ราคาประมูลคลื่น 900 MHz ทะลุแสนล้านบาทแล้ว กสทช. ย้ำค่าบริการต้องต่ำกว่าอัตราค่าบริการ 3G เดิม

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้เวลา11.00 น.  ราคาการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ได้ทะลุแสนล้านบาทไปอยู่ที่ 100,110 ล้านบาทแล้ว แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นการเดินทางที่ถูกต้อง ประเทศชาติ และประชาชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน กสทช. จะไม่หยุดเพียงเท่านี้ แต่จะเดินหน้าดำเนินการต่อไปเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้งานคลื่นความถี่อย่างเต็มที่

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า ราคาประมูลรอบที่ 113 ล็อตที่ 1อยู่ที่ 49,250 ล้านบาท และล็อตที่ 2 อยู่ที่ 50,860 ล้านบาท รวมสองล็อตอยู่ที่100,110 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก แต่ยังไม่ถึงระดับราคาสูงสุดที่เคยมีผู้เข้าร่วมประมูลในต่างประเทศเคยทำสถิติมาแล้ว

ในปี 2020 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) จะมีการนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการในเชิงพาณิชย์ ซึ่งการจัดสรรคลื่นผ่านการประมูลในครั้งนี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีคลื่นความถี่รองรับเทคโนโลยี 5Gที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจากการวิเคราะห์ทางเทคนิค ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ควรมีคลื่นความถี่ที่ให้บริการรวมไม่ต่ำกว่า 50 MHz ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การประมูลจะมีการแข่งขันด้านราคาอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้มาซึ่งคลื่นความถี่นำมาประกอบกิจการโทรคมนาคม

การเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ในปี 2555 ได้ทำให้อันดับการพัฒนาด้านไอซีทีของประเทศไทยขยับขึ้นคราวเดียว 20 อันดับ และจากการที่ประเทศไทยมีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz คาดว่าจะส่งผลให้ในอีก 2 ปีข้างหน้าอันดับการพัฒนาด้านไอซีทีของประเทศไทยจะเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน  และปี 2563  จะมีโอกาสในการพัฒนาขึ้นจะเป็นอันดับ1 ของอาเซียนด้วย

นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จำนวนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHzและการประมูลย่าน 1800 MHz ที่ กสทช.ได้นำมาประมูลในกิจการโทรคมนาคมเพิ่งมีเพียง 95 MHz เท่านั้น และทั้งประเทศมีการใช้งานโดยรวมไม่ถึง 300 MHzซึ่งน้อยกว่าที่มีการใช้งานในต่างประเทศ   ดังนั้นในการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม กสทช. คำนึงถึง   2 ส่วน คือ 1. การนำรายได้ส่งเข้ารัฐ และ2. การทำให้ประชาชนได้ใช้บริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ดูรายได้จากการประมูลเพียงด้านเดียว

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ผลการประมูลในวันนี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้เข้าร่วมการประมูลทั้ง 4 รายมีต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นร่วมด้วยทั้งสิ้น การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHzซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว และการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศกว่า 1.8 แสนล้านบาท รวมถึงเงินลงทุนในการดำเนินการอีกไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนรอบในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อีกจำนวนมาก

“การประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ที่ผ่านมาและในวันนี้ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งทางด้านการส่งออก นำเข้า ลงทุน และบริโภค เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนเรื่องราคาการประมูลที่สูงจะมีส่วนกระทบกับต้นทุนในการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น   ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายที่เข้าร่วมมีการวางแผนและทำศึกษามาอย่างดีแล้ว  อีกทั้งรายได้จากกิจการโทรคมนาคมเกิดจากผู้บริโภคโดยตรง   ต่างจากกิจการโทรทัศน์ที่รายได้มาจากการโฆษณา  เชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาในการประกอบกิจการหลังได้รับใบอนุญาต และสามารถรองรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ได้รับรู้และยอมรับไว้ก่อนแล้วว่าอัตราค่าบริการเมื่อเปิดใช้บริการจะต้องมีราคาถูกลงกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

เนื้อหาเกี่ยวข้อง

iPhone รุ่นแรก ความจุ 4GB ทำลายสถิติประมูลบน Auction ด้วยมูลค่าราว 6.6 ล้านบาท !

เช็คที่ถูกเซ็นโดย Steve Jobs ถูกขายในราคาราว 3.6 ล้านบาท ผ่าน Auction

ดีแทค ไตรเน็ต ชำระค่าคลื่นความถี่ 700 MHz และค่าคลื่นความถี่ 900 MHz

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Read More