ดีแทคประกาศผลประกอบการปี 2565

โดย Wattana S.

ดีแทคประกาศผลประกอบการปี 2565 มุ่งมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอก

dtac

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค รายงานผลประกอบการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ ด้วยแรงหนุนที่ลูกค้าได้รับประสบการณ์ใช้งานเครือข่ายที่ครอบคลุมการใช้งานดีขึ้น และด้วยมาตรการต่าง ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัย บริษัทยังคงมี EBITDA margin ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจระดับมหภาค

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า “ปี 2565 เป็นปีที่ผลการดำเนินงานของดีแทคเริ่มมีการฟื้นตัว แม้ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก ซึ่งรวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้า ๆ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความท้าทายของเศรษฐกิจระดับมหภาค แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการแข่งขันที่ยังคงเข้มข้นต่อเนื่อง แต่ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เหล่านี้ ดีแทคยังคงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในปี 2565”

เพื่อมอบสัญญาณเครือข่ายที่เชื่อถือได้และให้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นแก่ลูกค้าในปีนี้ ดีแทคยังคงเดินหน้าขยายสถานีฐานของคลื่นย่านความถี่ต่ำเป็นจำนวนกว่า 6,300 สถานีฐานในปีนี้ ส่งผลให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานภายในอาคารได้ดีขึ้น การใช้งานเร็วขึ้น และการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น ในปี 2565 ดีแทค มีคะแนนความพึงพอใจสุทธิ (NPS) ที่ดีขึ้นจากปีก่อน และสามารถลดการร้องเรียนที่เกี่ยวกับเครือข่าย และด้วยประสบการณ์การใช้งานของเครือข่ายที่ดีขึ้น ปริมาณการใช้งานทั้ง 4G และ 5G ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4/65 ดีแทคมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 106,000 ราย มีผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 21.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน

นายนกุล เซห์กัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ดีแทค กล่าวว่า “กลยุทธ์ของดีแทคในการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางยังคงดำเนินต่อไป เพื่อมอบคุณค่าให้กับกลุ่มลูกค้ารายบุคคล (B2C) และกลุ่มลูกค้าธุรกิจ (B2B) และด้วยการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการดิจิทัลและการมีปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้นกับลูกค้า รายได้จากบริการที่นอกเหนือจากการเชื่อมต่อ (dtac beyond) เติบโตร้อยละ 18 จากปีก่อน นอกจากนี้ ด้วยการที่ดีแทคเป็นแบรนด์ที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าว ดีแทคสามารถเพิ่มการเติบโตของรายได้จากการให้บริการระบบเติมเงินได้อย่างแข็งแกร่งติดต่อกันเป็นจำนวน 5 ไตรมาส ตลอดจนสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ B2B อย่างต่อเนื่อง คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 13 จากปีก่อนจากการขายโซลูชั่นที่ตอบโจทย์มากขึ้นให้กับลูกค้า SME รวมไปถึงองค์กรขนาดใหญ่ ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและการสร้างพันธมิตร

การขับเคลื่อนประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้างเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยสร้างมูลค่าในการดำเนินงานตลอดจนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนอกจากมาตรการในการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว เรายังมีความมุ่งมั่นในการประหยัดกระแสเงินสดจากค่าใช้จ่ายที่อยู่ใต้ EBITDA ในปี 2562 – 2565 ที่ผ่านมา ช่วยให้ดีแทคสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงได้ คิดเป็นอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 8 ต่อปี ในช่วงปี 2562 – 2565 ที่ผ่านมา โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการในปี 2565 พร้อมกับการประหยัดกระแสเงินสด

EBITDA สำหรับไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัย ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ กำไรสุทธิดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบเชิงบวกประมาณ 450 ล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงอายุการใช้งานของสินทรัพย์เป็นหลัก กำไรสุทธิของไตรมาส 4/64 ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์เพียงครั้งเดียวประมาณ 430 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อการลงทุนสำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ 2,180 ล้านบาท และด้วยความคาดหมายว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นในไตรมาสที่ 1/66 ฝ่ายบริหารของดีแทคจึงงดให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวโน้มสำหรับปี 2566”

ตัวเลขสำคัญทางการเงิน สำหรับปี 2565

รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC 55,512 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน
EBITDA อยู่ที่ 29,851 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.5 จากปีก่อน
อัตรากำไร EBITDA (normalized) อยู่ที่ร้อยละ 45.2
กำไรสุทธิ 3,119 ล้านบาท

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More