ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กสทช. พร้อมแล้วสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันพรุ่งนี้ เน้นโปร่งใสทุกขั้นตอน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. พร้อม 100% สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค. 2558) ทุกขั้นตอนได้จัดเตรียมไว้พร้อมแล้วด้วยความโปร่งใส การประมูลครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์วงการโทรคมนาคมไทย ที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีอันทันสมัยเป็นพื้นฐานไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งหลังจากนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมห้องประมูลทั้ง 4 ห้องแล้วก็จะทำการปิดห้องประมูลเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประมูลได้ใช้งานในวันพรุ่งนี้
นายฐากร กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้มีหนังสือถึงบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับกรณีสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ว่าเมื่อสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) สิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. 2558 สิทธิตามกฎหมายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการใช้คลื่นความถี่จึงสิ้นสุดลงตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฯ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แก่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฯ นับตั้งแต่วันที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง
สำหรับข้อกังวลที่สื่อมวลชนบางฉบับได้ลงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ไปยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการแผ่นดินเกี่ยวกับคลื่น 900 MHz เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน จึงขอนำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินมาแจ้งกับสื่อมวลชนดังนี้ คณะกรรมการผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือแจ้งให้ประธานกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และปลัดกระทรวงการคลังในฐานะผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลและกำกับนโยบายบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นตามข้อร้องเรียนดังกล่าว หากพบว่าส่งผลกระทบต่อบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการนำคลื่นความถี่ไปดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ก็ขอให้พิจารณาสั่งการให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ไปดำเนินการใช้สิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
วันนี้สำนักงาน กสทช. พร้อมแล้วสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค. 2558) ในส่วนของการแข่งขันราคาในการประมูลที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะเป็นไปอย่างดุเดือดนั้น ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz ในครั้งนี้มีขนาดของคลื่นความถี่ไม่เท่ากับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่งมีขนาดคลื่นความถี่ใบละ 15 MHz และมีอายุใบอนุญาตนาน 18 ปี แต่ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ขนาดคลื่นความถี่จะใบละ 10 MHz และมีอายุใบอนุญาตนาน 15 ปี ซึ่งผลประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เมื่อวันที่ 11-12 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2692.6 ล้านบาทต่อ 1 MHz หากราคาผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ได้ราคาเฉลี่ยมูลค่าคลื่นความถี่ต่อ 1 MHz ที่ 2692.6 ล้านบาท หรือสูงกว่าถือว่าเป็นราคาการประมูลที่มีการแข่งขันดุเดือดมาก
สำหรับขั้นตอนการประมูลในวันพรุ่งนี้ (15 ธ.ค. 2558) จะเริ่มเวลา 07.00 น. ถึง 07.50 น. โดยผู้เข้าร่วมการประมูลจะมาลงทะเบียนที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารอำนวยการ จากนั้นเวลา 08.00 น. จะเป็นการจับสลากเพื่อเลือกห้องประมูล และซองบรรจุ User name (หรือLogin ID) และรหัสผ่านครั้งแรก หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมประมูลจะเข้าห้องประมูลตามลำดับที่จับสลากได้ และการประมูลรอบแรกจะเริ่มขึ้นในเวลา 09.00 น.
การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แบ่งออกเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 12,864 ล้านบาท ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเคาะราคาครั้งแรกที่ 13,508 ล้านบาท จากนั้นการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 5% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 644 ล้านบาท เมื่อราคาประมูลถึง 16,080 ล้านบาท การเคาะประมูลจะเพิ่มขึ้นเหลือครั้งละ 2.5% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 322 ล้านบาท รูปแบบนี้จะทำให้รัฐได้รายได้ขั้นต่ำ 27,016 ล้านบาท
ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลครั้งนี้มีทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่ 1. บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3. บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ 4. บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
นายฐากร กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันพรุ่งนี้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยความตั้งใจที่จะนำเอาคลื่นความถี่ดังกล่าวมาให้บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ ราคาถูกลง นำรายได้จากการประมูลเข้ารัฐ สร้างโอกาสแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรม
นอกจากนั้นการประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ ยังมีมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค โดยผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดค่าบริการที่เป็นธรรม สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบ บริการมีคุณภาพ และค่าบริการเฉลี่ยต้องต่ำกว่าค่าบริการเฉลี่ยบนย่าน 2.1 GHz หรือ 3Gโดยมีอย่างน้อย 1 รายการส่งเสริมการขายที่มีค่าบริการต่ำกว่าค่าเฉลี่ยบนย่าน 2.1 GHzและคิดตามการใช้งานจริง โดยคุณภาพต้องไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยบนย่าน 2.1 GHz