IT News
พระเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย
เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบถวายการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ ๑๙ ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” ซึ่ง เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงอำนวยการสาธิตฝนเทียมสูตรใหม่ครั้งแรกของโลก
พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ “…ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยายของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ ‘Centrum’ จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย…” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล
ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียมทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ
ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ
ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ
นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง
เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้นได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส.เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง ๒ เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง ๑๐๐ วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่นสหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สถานีวิทยุ อ.ส.ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบFMขึ้นอีกระบบหนึ่งในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นอาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน
นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานีตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุดและในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ และ ๑๖.๐๐-๑๙.๐๐ วันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ หยุดทุกวันจันทร์
พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม
ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหินซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคมเข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร
พระราชกรณียกิจด้านคอมพิวเตอร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสโรงงานคอมพิวเตอร์ใหญ่ของไอบีเอ็ม ที่ซิลิกอนวาเลย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2503 นับเป็นการจุดประกายให้วงการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย คิดถึงการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ให้ทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้ว นับได้ว่า “ทรงเป็นผู้นำและจุดประกายวงการคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง”
หากย้อนไปเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2529 ม.ล.อัศนี ปราโมช องคมนตรี ได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช พลัส ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระองค์ท่านจึงทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงแต่ทรงงานด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากแต่ทรงสนพระทัยในการศึกษาเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ บางครั้งได้ทรงเปิดเครื่องออกดูระบบภายในเครื่องด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุงซอฟต์แวร์ใหม่ขึ้นมาใช้เอง และบางครั้งทรงแก้ไขปรับปรุงซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU Writer ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ (โปรแกรมประมวลคำ Word Processor ในช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งมีการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) อย่างแพร่หลาย ซึ่งพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
โดยทรงใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระวิสัยทัศน์ยาวไกลในการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรชาวไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับเนื่องกว่า 62 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทรงสนับสนุน ให้มีการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อประดิษฐ์บัตร ส.ค.ส.พระราชทานพรแก่พสกนิกรชาวไทย ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปี
พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบและจัดทำโปรแกรมพระไตรปิกฎฉบับคอมพิวเตอร์ โปรแกรมนี้ว่า BUDSIR : Buddhist Scriptures Information Retrieval รวมทั้งมีพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับสืบค้นข้อมูลดังกล่าว ทรงเป็นผู้นำการพัฒนาพหุสื่อ (Multimedia) อาทิ การทำให้คอมพิวเตอร์พูดภาษาไทยได้ชัดขึ้น ตลอดจนทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชกรณียกิจต่างๆ
นอกจากนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
เทคโนโลยีดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียง ตัวอย่างบางส่วนที่ทรงใช้ ยังมีวิทยาการและเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ทรงใช้ในการพัฒนาอีกจำนวนมาก เช่น ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ตลอดจนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
ในการที่ทรงนำเทคโนโลยีความรู้ต่าง ๆ มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งตนเองได้อันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและนานาประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นาย Richard G. Grimshaw หัวหน้าสาขาวิชาเกษตร ฝ่ายวิชาการภูมิภาคเอเชียของธนาคารโลก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหญ้าแฝกชุบสำริด เพื่อเฉลิมพระเกียรติในความสัมฤทธิ์ผล ทางด้านวิชาการและการพัฒนา ในการส่งเสริมเทคโนโลยีการปลูกหญ้าแฝก ในระดับระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ ดินและน้ำทำให้พสกนิกรไทยซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันเทิดพระเกียรติพระองค์ท่านให้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย”
ขอบคุณข้อมูลจาก www.เรารักพระเจ้าอยู่หัว.com