ข่าวประชาสัมพันธ์
หัวเว่ยเผยวิสัยทัศน์ด้าน ‘Intelligent Connectivity’ ในงานประชุม Asia-Pacific Information Superhighway (AP-IS) ของ UN-ESCAP
งานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนทางด่วนสารสนเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค (Asia-Pacific Information Superhighway -AP-IS) และการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยสังคมสารสนเทศ (WSIS[1]) ระดับภูมิภาค ของคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN-ESCAP) ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม ที่ผ่านมา มร. เอ็ดเวิร์ด โจว รองประธานฝ่ายกิจการสาธารณะและการสื่อสารของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ จำกัด ได้รับเกียรติให้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่อง ‘การสร้างการเติบโตในเอเชียแปซิฟิคด้วยการเชื่อมโยงสื่อสารอัจฉริยะ’ แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากภาครัฐ ตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศจากกว่า 20 ประเทศที่เข้าร่วมงาน
มร. โจว ได้นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของหัวเว่ยในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทั้งในบ้านและที่ทำงาน เพื่อขับเคลื่อนโลกอัจฉิรยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ และในฐานะผู้นำระดับโลกด้านโครงสร้างพื้นฐานไอซีทีและสมาร์ทดีไวซ์ หัวเว่ยมีความเชื่อมั่นและพร้อมสนับสนุน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDG) ซึ่งกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2558 นอกจากนี้ หัวเว่ยยังตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีไอซีทีในฐานะปัจจัยผลักดันและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ อาทิ คุณภาพการศึกษา นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานสะอาดที่ราคาไม่แพง รวมถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนด้วย
และเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายฯ เหล่านี้ ในปีเดียวกันนี้เอง หัวเว่ยจึงได้เริ่มจัดทำรายงานดัชนีการเชื่อมโยงสื่อสารทั่วโลก (Global Connectivity Index: GCI) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อศึกษาถึงระดับความก้าวหน้าของประเทศต่าง ๆ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล โดยวัดจากข้อมูลตัวชี้วัดจำเพาะ 40 ตัว ครอบคลุมเทคโนโลยีการขับเคลื่อนหลัก 5 ตัว อันได้แก่ บรอดแบนด์, ดาต้าเซ็นเตอร์, คลาวด์, บิ๊กดาต้า และอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ และเพิ่มเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนลำดับที่ 6 ในรายงาน GCI ประจำปี 2018 อันนำไปสู่แนวความคิดเรื่อง ‘การเชื่อมโยงสื่อสารอัจฉริยะ’ พบว่า การลงทุนในเทคโนโลยีสำคัญทั้ง 6 เทคโนโลยีนี้ช่วยให้ประเทศต่าง ๆ สามารถสร้างความเป็นดิจิทัลให้กับเศรษฐกิจของตนได้ ในรายงาน GCI ประจำปีของหัวเว่ยได้แสดงข้อมูลการประเมินเชิงภววิสัยที่ครอบคลุมด้านการเชื่อมโยงสื่อสารของแต่ละประเทศ ทั้งมุมมองในระดับชาติและในเชิงธุรกิจ รายงานยังวัดผลสถานะในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มในอนาคตและความท้าทายที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ตลอดจนวัดค่าคะแนนด้านการเชื่อมโยงที่มีผลต่อการสร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคด้วย
จากข้อค้นพบในรายงาน GCI 2017 ของหัวเว่ย มร. โจว ได้อธิบายในงานประชุมของ UN-ESCAP ว่าเทคโนโลยีไอซีทีได้กลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเป็นตัวเร่งอัตราการเติบโตให้เร็วมากยิ่งขึ้น โดยพบว่าในปี 2560 มีคะแนน GCI เพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็นร้อยละ 4 ซึ่งคะแนนGCI ที่เพิ่มขึ้นหนึ่งคะแนนหมายถึงความสามารถทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 รวมถึงด้านนวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และด้านผลิตภาพเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ด้วย อย่างไรก็ดี รายงานยังพบว่า ช่องว่างทางดิจิทัลระหว่างประเทศที่พัฒนาด้านดิจิทัลแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาด้านดิจิทัลยังคงขยายตัวกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั้ง 50 ประเทศที่นำมาวิเคราะห์ในรายงาน GCI 2017 มีค่า GDP รวมคิดเป็นร้อยละ 90 ของทั้งโลก และครอบคลุมจำนวนประชากรร้อยละ 78 ของโลก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่
- กลุ่มประเทศ Starter (มี 13 ประเทศ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 3,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นประเทศที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที เน้นไปที่การเพิ่มการจัดสรรรด้านไอซีทีเพื่อให้ผู้คนเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย บังกลาเทศ และปากีสถาน
- กลุ่ม Adopter (มี 21 ประเทศ มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 16,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นกลุ่มที่อัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศโดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ประเทศเหล่านี้เน้นไปที่การเพิ่มความต้องการด้านไอซีทีเพื่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุคดิจิทัล และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วย จีน มาเลเซีย และไทย
- กลุ่ม Frontrunner (มี 16 ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประมาณ 54,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นกลุ่มที่เดินหน้าพัฒนาประสบการณ์การใช้งานด้านไอซีทีของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง และมีการใช้งานบิ๊กดาต้าและ IoT ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศในกลุ่มนี้ประกอบด้วย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ ในการนำเสนอ มร. โจว ยังได้บ่งชี้ถึงนโยบายเร่งด่วนและคำแนะนำด้านไอซีทีสำหรับประเทศในแต่ละกลุ่ม ดังสรุปในตารางด้านล่าง
ขอบเขตการพัฒนา ที่มุ่งเน้น |
กลุ่ม Starter | กลุ่ม Adopter | กลุ่ม Frontrunner |
ความเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีในปี 2018 | เน้นพัฒนาการเข้าถึงเครือข่ายความเร็วสูง เช่น FTTH and4G | เน้น 4G และศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์
|
เน้นการวางระบบIoT และบรอดแบนด์ความเร็วสูงพิเศษ |
ความเร่งด่วนของภาคอุตสาหกรรมและองค์กร | เน้นอี-คอมเมิร์ซและคลาวด์ | เน้นคลาวด์และบิ๊กดาต้าเพื่อปูพื้นฐานของ AI | เน้นเพิ่มการลงทุนด้าน AI และการวิเคราะห์ |
ความเร่งด่วนในภาคแรงงาน | เน้นการศึกษาเกี่ยวกับบริการคลาวด์และบิ๊กดาต้า | เน้นการศึกษาด้านบิ๊กดาต้า
|
เน้นการจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อเตรียมบุคลากรสำหรับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI |
นอกจากนี้ มร. โจว ยังได้เน้นย้ำว่า นักวางแผนเศรษฐกิจควรตระหนักถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นอันดับแรก พร้อมระบุว่า“ความไม่เท่าเทียมกันด้านดิจิทัลได้กลายเป็นปัญหาช่องว่างทางดิจิทัลแล้ว” โดยความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นนี้เป็นเหมือน “ปรากฏการณ์แมทธิว” ซึ่งเป็นทฤษฎีสังคมมานุษยวิทยาในเวอร์ชั่นของไอซีที ที่ระบุไว้ว่า ‘คนรวยมีแต่จะรวยขึ้น แต่คนจนกลับยิ่งจนลง’ ประเทศกลุ่ม Frontrunner มีค่า GCI เพิ่มขึ้น 4.7 คะแนนตั้งแต่ปี 2558- 2560 อันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ บิ๊กดาต้า และ IoT ขณะที่ประเทศกลุ่ม Adopter มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.5 คะแนน กลุ่มประเทศStarter ที่ช้ากว่านั้น รั้งท้ายด้านขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นเพียง 2.4 คะแนนของคะแนนโดยรวม
ในรายงาน GCI ประจำปี 2561 ฉบับล่าสุด ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 51 จากทั้งหมด 79 ประเทศที่นำมาวิเคราะห์ โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ Adopter ระยะเริ่มต้นด้านการพัฒนาไอซีที มีคะแนนโดดเด่นในด้านความครอบคลุมในการให้บริการเครือข่ายโมบายบรอดแบนด์ สำหรับความครอบคลุมด้านการให้บริการ 4G ประเทศไทยมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 4 เป็น 5 คะแนนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีการลงทุนด้านศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์และโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราความเร็วในการดาวน์โหลดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์และอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตก็มีคะแนนดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ของไทยจะมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ประเทศไทยก็ยังตามหลังในแง่ของปัจจัยขับเคลื่อนทางเทคโนโลยีอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานบิ๊กดาต้า การพัฒนาในขั้นต่อไปจึงควรเน้นไปที่การสร้างดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์สตอเรจเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้การเชื่อมโยงสื่อสารสะดวกยิ่งขึ้น รายงานดังกล่าวยังระบุถึงแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลของรัฐบาลไทยครอบคลุมตั้งแต่ปี 2560-2564 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางด้านดิจิทัลในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การศึกษา บริการทางการแพทย์ การลงทุน การป้องกันภัยพิบัติ และการบริหารรัฐกิจ เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่เศรษฐกิจและสังคม
หัวเว่ยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 มาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยได้จัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ ปี 2548 มีการเปิดศูนย์ฝึกอบรมแห่งแรกของบริษัท ปี 2551 เปิดตัวโครงการ “Seeds for Future” ปี 2558 จัดตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้นที่กรุงเทพฯ ปี 2559 เปิดศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ และเปิดศูนย์ OpenLab ในปี 2560 บนพื้นที่ 2,000 ตร.ม. นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ฯลฯ ปัจจุบัน หัวเว่ย ประเทศไทย มีการจ้างพนักงานกว่า 3,300 คนและฝึกอบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยีไอซีทีไปแล้วกว่า 35,000 คน ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน Huawei Global Connectivity Index สามารถดูได้ที่ www.huawei.com/minisite/gci/en/