ในยุคที่อาชีพอย่าง Youtuber หรือ Influencer เป็นหนึ่งในอาชีพที่เด็กๆ ใฝ่ฝัน ทำให้พ่อแม่หลายคนส่งเสริมให้ลูกกลายเป็นคนดังตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมความกล้าแสดงออก มีพื้นที่ออนไลน์เป็นของตัวเอง แต่ “ความฝัน” อาจต้องแลกมากับ “ความเป็นส่วนตัว” ที่อาจถูกละเมิดได้อย่างง่ายดายผ่านโลกออนไลน์
dtac Safe Internet มุ่งสร้างทักษะและภูมิคุ้มกันแก่เยาวชนและครอบครัวให้สามารถท่องโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย เหมาะสม และสร้างสรรค์ เปิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ “ห้องเรียนเด็กล้ำ” พื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่มีในห้องเรียน แต่มีในโลกชีวิตจริง ออกแบบบทเรียนออนไลน์ ‘Data Privacy & Sexual Abuse’ สร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนเรียนรู้เรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวในการใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงเรียนรู้วิธีการป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศบนโลกออนไลน์ ที่ learn.safeinternet.camp
พ.ต.อ.มรกต แสงสระคู ผู้เชี่ยวชาญงานช่วยเหลือเด็กและเยาวชน จากคณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) และวิทยากรในห้องเรียนออนไลน์วิชา Online Privacy & Sexual Abuse ของ ห้องเรียนเด็กล้ำ บอกว่า จากสถิติของ TICAC ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีการจับกุมดำเนินคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต จำนวน 212 คดี มีผู้ต้องหาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จำนวน 245 คน ซึ่งผู้ต้องหา 1 คน สร้างความเสียหายให้แก่เหยื่อได้ตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักพันคน
ซึ่งหนึ่งในรูปแบบการละเมิดทางเพศที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นมากที่สุดคือ “Sextortion” กล่าวคือการใช้อำนาจที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือฝ่ายหนึ่ง บังคับ ข่มขู่หรือกรรโชกทางเพศ เพื่อหวัง “สิ่งตอบแทน” ที่อาจมาในรูปแบบของเงินหรือการผลิตสื่อทางเพศ โดยใช้ช่องทางออนไลน์ในการกระทำผิด
วงจร Sextortion
ทั้งนี้ กระบวนการ Sextortion นั้นจะเกิดขึ้นบนพื้นที่ออนไลน์ โดยผู้มีเจตนาในการกระทำผิดหรือ “นักล่า” (Predator) จะเลือก “เหยื่อ” บนพื้นที่โซเชียลมีเดีย เช่น แฟนเพจของน้อง เมื่อเลือกเหยื่อได้แล้ว นักล่าจะเข้าไปสืบส่องดูความเคลื่อนไหวหรือการทำกิจกรรมของเหยื่อที่ทิ้งร่องรอยไว้ผ่านการโพสต์กิจกรรมทางโซเชียลมีเดีย เพื่อสืบดู “ความต้องการ” ของเหยื่อ ทำให้นักล่าสามารถเข้าถึงตัวและเข้าไปเติมเต็มความต้องการของเหยื่อได้ ขั้นตอนนี้เรียกว่า “Grooming” หรือการเตรียมเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ
จากนั้น นักล่าจะเริ่มปฏิบัติการ “ดึง” เหยื่อออกจากสังคมปกติของเขา โดยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในทางบวก เมื่อนั้นกระบวนการล่อล่วงและละเมิดเด็กก็จะเกิดขึ้นในทางใดทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการลวนลาม การถ่ายรูปของลับของเหยื่อแล้วส่งต่อสู่โลกออนไลน์ ซึ่งทำให้นักล่ามีอำนาจเหนือเหยื่อทันที ก่อเป็นวงจรละเมิดทางเพศบนอินเทอร์เน็ตอย่างไม่รู้จบสิ้น
ยกตัวอย่างเช่น กรณีนี้ พ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นเน็ตไอดอล โดยส่งให้เด็กไปเข้าเป็นนักแสดงฝึกหัดของค่ายๆ หนึ่ง เปิดเพจและโพสต์กิจกรรมให้แฟนเพจเข้ามาร่วมเล่น ในการณ์นี้ นักล่าได้สร้างโพรไฟล์ตัวเองปลอมขึ้นมา โดยเซ็ตให้มีความน่าเชื่อถือ เป็นผู้ใหญ่ใจดี จากนั้นพยายามเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ในเพจ มีการกดไลค์ คอมเมนต์ จนสามารถล่อลวงให้เด็กออกมาพบเจอตัวเป็นๆ ได้ ซึ่งในระหว่างที่พบกัน แม่ของเด็กก็มาส่งเองด้วย สำหรับกรณีนี้ TICAC พบเบาะแสและติดตามคนร้ายได้จากการรีพอร์ตของเฟซบุ๊ก โดยในความเป็นจริงพบว่าเด็กและผู้ต้องหามีการพบกันจริง 6 ครั้ง แต่แม่ของเด็กทราบการพบกันเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น ซึ่งจากการตรวจค้นพบภาพลามกของเหยื่อเป็นจำนวนมาก
โซเชียลมีเดีย: เมนูของนักล่า
ในบางกรณี Sextortion เกิดขึ้นโดยไม่ต้องเจอหน้าคร่าตากันจริงก็ได้ โดยนักล่าจะทำทีเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเหยื่อจนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ จากนั้นจะใช้วิธีการสื่อสารออนไลน์ เช่น โทรศัพท์ผ่านการวิดีโอคอล จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการ “Sexting” หรือการที่บุคคลส่งข้อความในลักษณะให้ฝ่ายตรงข้ามต้องการมีกิจกรรมหรือความต้องการทางเพศ ซึ่งก็จะทำให้เกิดการผลิตสื่อลามกอนาจาร โดย “เหยื่อ” เป็นผู้กระทำผ่านการถูก “ล่อลวง” ผ่านสิ่งตอบแทน เช่น ไอเทมเกม ซึ่งในขณะเกิดเหตุ เหยื่ออาจไม่ได้รู้สึกเสียหายก็ได้ กรณีแบบนี้พบได้บ่อยมากขึ้นทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน
ยกตัวอย่างกรณีการจัดหานักแสดงชายคัดเลือกเข้าสู่ค่าย ผู้กระทำผิดมีการติดต่อและล่อล่วงให้เหยื่อเดินทางไปเจอ จากนั้นใช้กลเม็ดในการล่อล่วงให้ไปที่ห้องของนักล่า จากนั้นก็ให้น้ำดื่มโดยใส่ยานอนหลับไว้ จากนั้นจึงทำการแบล็คเมล์ ข่มขู่ให้เหยื่อช่วยตัวเอง บันทึกหน้าจอ จากนั้นก็นำไปส่งต่อหรือขายในกลุ่มไลน์ที่นักล่าจัดตั้งขึ้น
พื้นที่โซเชียลมีเดียเปรียบเสมือนเมนูของนักล่า และ Sextortion ไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากันจริงก็สามารถทำให้เกิดการข่มขู่ทางเพศได้ ที่สำคัญไปกว่านั้น เมื่อข้อมูล ภาพของลับหลุดไปทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ยากที่จะลบให้หมดไปจากพื้นที่ออนไลน์นี้” พ.ต.อ.มรกต กล่าว
ตัดวงจรอุบาทว์ผ่านการเฝ้าระวังทางสังคม
การล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้จบแค่การลงโทษผู้กระทำความผิด แต่ยังต้องมีกระบวนการ “เยียวยา” แผลในจิตใจหรือ Complex trauma ซึ่งเกิดขึ้นจากการล่วงละเมิดและมีการผลิตซ้ำ เผยแพร่และส่งต่อบนโลกออนไลน์ ซึ่งหากเหยื่อไม่เข้มแข็งพอ ก็จะเกิดอาการซึมเศร้า และในหลายกรณี เหยื่อจะกลับเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์ในฐานะ “นักล่า” เสียเอง
“เราพบว่าผู้กระทำความผิดหลายรายมีปูมหลังทางจิตใจจากการล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก เมื่อเขาไม่ได้รับการบำบัดเยียวยา เขาก็จะโตมากลายเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี ทำให้เกิดโดมิโนทางอาชญากรรมขึ้น” พ.ต.อ.มรกต อธิบาย
นอกจากการแก้ไขปัญหาในระดับปัจเจกแล้ว มาตรการที่สำคัญก็คือ “การป้องกัน” โดยเริ่มต้นจาก “ครอบครัว” ผ่านการสร้างกฎเกณฑ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะกับเด็กในวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เนื่องจากข้อมูลพบว่า เด็กที่มีอายุ 14-18 ปีมีความเสี่ยงในการถูก sextortion มากที่สุด
ขณะเดียวกัน “การเฝ้าระวังทางสังคม” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การไม่ส่งต่อข้อความหรือภาพลับเหล่านั้นจะเป็นการตัดวงจร Sextortion ซึ่งในทางวิชาการ Sextortion ถือเป็นส่วนของการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหา Sextortion จะยั่งยืนได้นั้น จะต้องอาศัยมีการขับเคลื่อนอย่างเป็น “รูปธรรม” ตั้งแต่จุดเริ่มของกระบวนการยุติธรรม จนไปถึงการฟื้นฟู เยียวยา บำบัดของเหยื่อ การลงโทษ ตลอดจนถึงการคืนผู้กระทำผิดสู่สังคม
dtac Safe Internet ชวนเยาวชนและผู้ปกครองฟังพอดแคสต์ R U OK Safe Internet ตอน Sextortion ที่ พ.ต.อ. มรกต แสงสระคู ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและวัยรุ่นในพื้นที่โซเชียลมีเดีย จะมาชวนเยาวชนและผู้ปกครองสอดส่องระมัดระวังการถูกล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ รวมไปถึงขั้นตอนการล่วงละเมิดของมิจฉาชีพ และวิธีการขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://dtacblog.co/r-u-ok-safe-internet-ep-4/