ข่าวประชาสัมพันธ์
NIA เปิดรายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ปี 2564 พร้อมเร่งเครื่องเดินหน้าขับเคลื่อนไทยก้าวสู่ ‘ประเทศแห่งสตาร์ทอัพ’
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมแหล่งความรู้ ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูลให้แก่กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ทอัพ สำหรับใช้เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้า ซึ่งล่าสุด NIA ได้ริเริ่มและจัดทำ ‘รายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564’ ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลภาพรวมภูมิทัศน์ของระบบนิเวศสตาร์ทอัพในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ให้มีความสามารถในการประกอบธุรกิจรวมถึงแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) ที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากขึ้น เพื่อเร่งสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า “รายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564 เป็นรายงานฉบับที่ 4 ที่ได้จัดทำต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2557 โดยได้รับความร่วมมือจากประชาคมกว่า 300 ราย ทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพไทยและต่างชาติ นักลงทุน ภาคการศึกษา ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การสร้างนักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และพลิกฟื้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในเร็ววัน นอกจากนี้ NIA ยังเปิดโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม การสนับสนุนงานวิจัย การอบรมพัฒนาด้านทักษะหลากหลายด้าน รวมถึงการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มคุณค่าให้สตาร์ทอัพไทยอย่างยั่งยืน”
สำหรับรายงานฉบับนี้ ได้สรุปข้อมูลที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการดำเนินธุรกิจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พร้อมข้อแนะแนะ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ความพร้อมของกำลังคน (Manpower Readiness) โดยผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี แต่ขาดทักษะในการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยียังมีจำนวนไม่เพียพอ อีกทั้งสตาร์ทอัพเองไม่สามารถจ้างแรงงานที่มีฝีมือด้านเทคโนโลยีที่มีฐานเงินเดือนสูงได้ จึงเสนอแนะให้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม พร้อมสร้างแพลตฟอร์มชุมชนออนไลน์เพื่อเข้าถึงแรงงานรุ่นใหม่ที่มีทักษะฝีมือด้านเทคโนโลยี พัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการได้รับเงินสนับสนุนค่าจ้างพนักงานบางส่วนจากรัฐบาลเพื่อช่วยแบ่งเบาต้นทุนของสตาร์ทอัพ
2) แหล่งเงินทุน (Source of Funding) สตาร์ทอัพยังไม่มีแผนการเงินและแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะการประเมินมูลค่าบริษัทในระยะยาว อีกทั้งนักลงทุนส่วนใหญ่สนใจลงทุนเฉพาะบางธุรกิจเท่านั้น ทำให้บางธุรกิจที่ไม่ได้รับความนิยม หาแหล่งเงินทุนได้ยาก สตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นไม่ได้รับการส่งเสริมที่มากพอ จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงวงเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาต่อยอดการทำธุรกิจได้ จึงมีข้อเสนอให้สนับสนุนสตาร์ทอัพให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปพัฒนาสินค้าและบริการ พร้อมทั้งสร้างมาตรฐานคู่มือการระดมทุนเพื่อกำหนดทิศทางทั้งระบบนิเวศ สร้างแพลตฟอร์มรวบรวมและประชาสัมพันธ์ข่าวสารการระดมทุนจากในประเทศและต่างประเทศ
3) การหากลุ่มลูกค้าและการขยายธุรกิจ (Growth & Scalability) สตาร์ทอัพยังขาดประสบการณ์ในการติดต่อกับกลุ่มลูกค้าระดับองค์กรขนาดกลางและขนาดใหญ่ ขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการตลาดและการทำธุรกิจในต่างประเทศ ขาดการวางแผนการเงิน เพื่อหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีข้อเสนอแนะให้จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค สนับสนุนการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีนวัตกรรมกับองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ พร้อมทั้งผลักดันสตาร์ทอัพไทยเข้าสู่ระบบการค้นหาในตลาดโลกเพื่อให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักลงทุนและกลุ่มลูกค้าจากทั่วโลก
4) การสนับสนุนจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบนิเวศ (Support from Government & Partners) พบว่าภาครัฐควรมีนโยบายเพื่อผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยสามารถเป็นผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคอย่างจริงจัง อีกทั้งควรสนับสนุนด้านเงินทุน รวมถึงการสร้างเกณฑ์คุณสมบัติในการรับทุนที่เอื้อต่อทุกธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้น จึงมีข้อเสนอแนะให้เกิดการเชื่อมโยงโครงการของภาครัฐเพื่อสนับสนุนและผลักดันสตาร์ทอัพสู่การเป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย สร้างฐานความรู้งานวิจัย ส่งเสริมการพัฒนาเขตพื้นที่นำร่องย่านนวัตกรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่รัฐดิจิทัล (Digital Government) และพัฒนาหลักเกณฑ์หรือระเบียบทางราชการให้มีความคล่องตัว โดยอาศัยการเข้าถึงบริการจากภาครัฐด้วยเทคโนโลยี (Gov Tech) เป็นตัวเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการทำงานแทนที่การติดต่อและเข้าถึงภาครัฐแบบเดิม ควบคู่ไปพร้อมๆ กับเทคโนโลยีพลเมือง (Civic Tech) นำเทคโนโลยีมาเชื่อมความสัมพันธ์กับภาครัฐ ให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายของรัฐบาลหรือปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้เข้าถึงผลประโยชน์ของประชาชนได้
นอกจากนั้นจากรายงานฉบับนี้ยังได้วางแนวทางให้สตาร์ทอัพในด้านการใช้ความสามารถในการประกอบธุรกิจและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกด้าน เพราะธุรกิจสตาร์ทอัพจะถูกนำไปใช้ประกอบการการวางแผนส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย โดยคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติในอนาคตภายใต้ 4 แนวทาง คือ
1) Build up awareness – การสร้างความตระหนักรู้ และการรับรู้เพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพให้เติบโตขึ้น ทั้งการสร้างศูนย์กลางแห่งการประชาสัมพันธ์ และการสนับสนุนสื่อสาธารณะให้รับรู้และเข้าใจธุรกิจสตาร์ทอัพ
2) Ease of Doing Business – การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสตาร์ทอัพ ทั้งเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว การรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติสำหรับสตาร์ทอัพเพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาย่านนวัตกรรมเพื่อรองรับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ
3) Strengthen Ecosystem – การส่งเสริมการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเริ่มตั้งแต่การปฎิรูประบบการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพในเด็กรุ่นใหม่ การวางแนวทางเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีสำหรับอนาคต ไปจนถึงการสร้างสถาบันสนับสนุนผู้ประกอบการ
4) Incentives & Supports – การออกมาตรการสนับสนุนโดยภาครัฐทั้งด้านการเงิน/การคลังแก่สตาร์ทอัพ การวางแนวทางผ่อนปรนสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนให้เหมาะสมกับการพัฒนาและการเติบโตของสตาร์ทอัพ และการวางแนวทางสนับสนุนการจัดเรตติ้งเทคโนโลยี และการค้ำประกันสินเชื่อเทคโนโลยี
ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน “ระบบนิเวศสตาร์ทอัพของประเทศไทย” ก้าวสู่ปีแห่งความท้าทายจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบให้ทุกส่วนต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด แต่ก็เป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพได้ปรับบริการและเพิ่มธุรกิจใหม่ที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น E-Commerce และ Online Service อย่าง Food Delivery ที่เติบโตขึ้นอย่างมาก รวมถึง Online Education Platform และ Digital Content ที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของ TECHSAUCE STARTUP DIRECTORY ชี้ให้เห็นว่าตัวเลขการระดมทุนในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 369 ล้านดอลล่าสหรัฐ จากการลงทุน 36 ครั้ง นับว่าเป็นปีที่การระดมทุนมีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ระบบนิเวศสตาร์ทอัพไทย
สำหรับในปี 2564 นี้ มูลค่าการลงทุนมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขึ้น จากข้อมูลการลงทุนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 289 ล้านดอลล่าสหรัฐ จากการลงทุน 37 ครั้ง โดยการระดมทุนใน Series D+ ของ Flash Express ยังคงมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ที่ 150 ล้านดอลล่าสหรัฐ ตามมาด้วย Zipmax ที่ได้ระดมทุนใน Series A ที่ 55.98 ล้านดอลล่าสหรัฐ และอันดับที่ 3 คือการระดมทุนของ Sunday Insurance ใน Series ที่ 45 ล้านดอลล่าสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในระบบนิเวศสตาร์ทอัพต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยที่ยังสามารถก้าวไปสู่ระดับ Regional Player ได้อย่างแน่นอน
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานการพัฒนาระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้นประเทศไทย ประจำปี 2564 ได้ที่เว็ปไซต์ www.startupthailand.org