ข่าวประชาสัมพันธ์
หัวเว่ย เปิดตัว “ผานกู่” เทคโนโลยี AI แบบใหม่ที่พร้อมพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมโลก
หัวเว่ย ในฐานะบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เดินหน้ามอบโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีให้กับหลายภาคอุตสาหกรรม ด้วยการเปิดตัว “ผานกู่ โมเดล 3.0” (Pangu Model 3.0) และบริการคลาวด์ ภายใต้ชื่อ “แอสเซนด์ AI” (Ascend AI) โดยนายฉาง ผิงอัน กรรมการบริหารของหัวเว่ย และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของหัวเว่ย คลาวด์ ได้เปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI รูปแบบใหม่ ในระหว่างการขึ้นกล่าวภายในงานสัมนา Huawei’s Developer Conference พร้อมตอกย้ำความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการมอบความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม และพันธมิตรต่าง ๆ รวมทั้งเดินหน้าปลดล็อคศักยภาพระดับปฏิวัติวงการของ AI
ผานกู่ โมเดล 3.0 นั้นเป็นระบบที่ได้ผ่านการเรียนรู้เบื้องต้น และสามารถที่จะปรับความสามารถของตัวเองให้เข้ากับความต้องการในรูปแบบเฉพาะและซับซ้อนของแต่ละภาคอุตสาหกรรม โดยผานกู่ โมเดล 3.0 นั้นใช้ประโยชน์จากการประมวลผลของข้อมูลจำนวนมากที่มี พร้อมกับการใช้อัลกอริทึมการเรียนรู้ของเครื่อง หรือ machine learning algorithms เพื่อพลิกโฉมการใช้งาน AI ในหลากหลายอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีผานกู่ โมเดล 3.0 นั้นจะประกอบไปด้วยศักยภาพหลักในการทำงาน 3 ด้าน ซึ่งสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วยการฝึกอบรมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการเช่น การพยากรณ์อากาศ การพัฒนาสูตรยา รวมไปถึงการรองรับการใช้งานในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่มีความเฉพาะทาง เช่น กาตรวจจับข้อมูลทางการเงิน การตรวจสอบไฟล์ข้อมูล หรือการพยากรณ์คลืนลมทางทะเล อนาคตของปัญญาประดิษฐ์นั้นขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน และการจัดการงานเฉพาะทางต่าง ๆ ด้วยความแม่นยำในสเกลขนาดใหญ่ นอกจากนี้ แม้งานระดับเล็กลงมาอย่างเรื่องการตรวจสอบคุณภาพในสายการผลิตอาจจะดูเป็นเรื่องที่เล็กน้อยและไม่มีความท้าทาย แต่ประสบการณ์ร่วมทั้งหมดที่ได้จากการเก็บข้อมูลจากหลายสายการผลิตและหลายองค์กรจะช่วยนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตและทางออกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ในแง่มุมนี้ การติดตั้งและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยแสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ในด้านการฝึกอบรม
นายฉาง กล่าวว่า “ผานกู่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหัวเว่ย คลาวด์ นั้น จะเข้ามาช่วยให้ผู้ใช้งานในหลายอุตสาหกรรม ให้พวกเขาได้มีผู้ช่วยอัจฉริยะ เพื่อให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเรายังคงยึดมั่นในพันธกิจที่ต้องการจะมอบ “AI เพื่อผู้ใช้งานในทุกภาคอุตสาหกรรม” และเราจะส่งมอบ ผานกู่ เพื่อให้ AI ช่วยพลิกโฉมหน้าธุรกิจต่าง ๆ ในทุกภาคส่วน”
วารสาร Nature ซึ่งเป็นวารสารทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้อ่านทั่วโลก ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่เผยให้เห็นถึงบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ที่จะมีมากขึ้นในการพยากรณ์อากาศ โดยเห็นได้จากการที่ ทีมนักพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศของผานกู่ สามารถพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศทั่วโลกโดยใช้ AI ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเป็นการใช้เพียงคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะธรรมดาคำนวณข้อมูลสถิติที่มีการเก็บไว้ถึง 43 ปี ระบบดังกล่าวสามารถคาดการณ์สภาวะอากาศล่วงหน้าได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที โดยให้ผลที่มีความแม่นยำมากกว่าการคำนวณในรูปแบบเดิม ๆ มากกว่าถึงร้อยละ 20 ในระยะเวลาที่เร็วกว่าถึง 10,000 เท่า การคำนวณนี้มีการใช้ปัจจัยที่หลากหลายในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปเพื่อการพยากรณ์สภาพอากาศที่แม่นยำ รวมถึงสามารถบอกได้ถึงระดับความชื้น ความเร็วลม อุณหภูมิ และระดับน้ำทะเลได้ ระบบพยากรณ์อากาศดังกล่าวจะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลในหลายภูมิภาคและหลายประเทศทั่วโลกที่มักได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความแปรปรวนของสภาพอากาศ เช่น ช่วยประเทศไทยพยากรณ์วิกฤติการทางสภาพอากาศและช่วยลดผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบบนี้ได้ช่วยพยากรณ์การเกิดไต้ฝุ่นมาวาร์ ได้อย่างแม่นยำเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมและประโยชน์ของการนำไปใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์
ดร. เทียน ฉี หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ ภาคส่วน AI ของหัวเว่ย คลาวด์ ในฐานะสมาชิกของสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นานาชาติ (IEEE Fellow) รวมถึงนักวิชาการจากสถาบันวิทยาศาสตร์นานาชาติแห่งยูเรเซีย (Academician of the International Eurasian Academy of Sciences) ได้กล่าวว่า “การพยากรณ์อากาศนั้น ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการคำนวณทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุด เพราะการคาดการณ์สภาพอากาศเป็นเรื่องซับซ้อน และการนำปัจจัยการคำนวณทางด้านคณิตศาสตร์และทางด้านกายภาพมารวมกันนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ AI สามารถทำการประมวลผลข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางชั้นบรรยากาศที่มีการจัดเก็บเอาไว้จำนวนมหาศาลได้ ปัจจุบันนี้ระบบพยากรณ์อากาศของผานกู่ มีหน้าที่ในการพยากรณ์อากาศ รวมทั้งเรายังใช้ความสามารถของระบบในการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศด้วย โดยเป้าหมายของเราคือ การสร้างระบบพยากรณ์อากาศรุ่นถัดไปที่มีการนำ AI เข้ามาเสริมความแม่นยำของข้อมูล”
อุตสาหกรรมการเดินรถระบบราง ก็ได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของ AI จากหัวเว่ย รวมถึงการนำเทคโนโลยี ผานกู่ โมเดล 3.0 มาใช้เป็นอย่างมาก เพราะนับตั้งแต่มีการนำระบบการเดินรถระบบรางของผานกู่ (Pangu Railway Model) มาใช้งาน ทั้งระดับความปลอดภัยและประสิทธิภาพการเดินรถไฟบรรทุกสินค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ ระบบการตรวจจับความผิดปกติโดยการใช้ระบบตรวจจับแบบเดิม หรือ Train Freight Detection Systems (TFDS) นั้นต้องใช้แรงงานคน ซึ่งขาดประสิทธิภาพ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายสูงด้วย เมื่อนำระบบการเดินรถระบบรางของผานกู่มาใช้งาน ขั้นตอนการตรวจจับก็ได้รับการยกระดับใหม่ โดยสามารถตรวจจับความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ ซึ่งแยกเป็นประเภทต่างๆ ได้ถึง 442 ประเภท โดยสามารถตรวจจับความผิดปกติที่ร้ายแรงได้มากกว่าร้อยละ 99.99 และตรวจจับความปกติในระดับทั่วไปได้มากกว่าร้อยละ 98
นอกจากนี้ ผานกู่ โมเดล 3.0 ยังสามารถนำมาใช้เพื่อกำกับขั้นตอนการทำงานและความปลอดภัยในอุตสาหกรรมเหมืองอีกด้วย อุตสาหกรรมเหมืองในรูปแบบดั้งเดิมนั้น ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยง รวมทั้งต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก และมีความท้าทายทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและความปลอดภัย อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเหมืองได้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน โดยเมื่อมีการนำข้อมูลจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบเพื่อเป็นการเรียนรู้เบื้องต้นแล้ว ผานกู่จะสามารถเรียนรู้สถานการณ์ต่างๆ ของอุตสาหกรรมเหมืองได้กว่า 1,000 สถานการณ์ย่อยด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการขุดเจาะเหมือง ไปจนถึงการควบคุมเครื่องมือ การขนส่ง และการสื่อสาร ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ากับการทำงานของทุกภาคส่วนในกระบวนการทำเหมืองถ่านหิน
การนำความสามารถของทั้ง ผานกู่ โมเดล 3.0 จากหัวเว่ย และบริการคลาวด์ แอสเซนด์ AI มาประยุกต์ใช้ จะทำให้ภาคธุรกิจสามารถยกระดับความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการผลิต ขับเคลื่อนความเติบโตให้กับองค์กร รวมถึงสร้างความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ได้ หัวเว่ยยังคงยึดมั่นในพันธกิจ ‘เติบโตในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนประเทศไทย’ และจะเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมในภาพรวม ผ่านการพัฒนาโซลูชันดิจิทัลที่มีความชาญฉลาด เพื่อดึงศักยภาพด้านดิจิทัลออกมาได้อย่างแท้จริง และช่วยผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ยุคอัจฉริยะที่มีการเชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์แบบได้