Buying Guides
Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษีปี 2568 สูงสุด 50,000 บาท สรุปทุกสิ่งที่ต้องรู้ก่อนช้อป
Easy E-Receipt 2.0 เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุด 50,000 บาท สำหรับปีภาษี 2568
ทำไมต้องเป็น Easy E-Receipt 2.0
- เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ: การที่ประชาชนสามารถนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้ จะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม
- เพื่อส่งเสริมธุรกิจ: การใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จะช่วยให้ธุรกิจมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น และสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อลดภาระภาษีของประชาชน: การลดหย่อนภาษีจะช่วยลดภาระภาษีของประชาชน ทำให้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ได้มากขึ้น
เงื่อนไขในการรับสิทธิ
- ระยะเวลา: การซื้อสินค้าหรือบริการต้องเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568
- หลักฐาน: ต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบของกรมสรรพากร
- วงเงิน: สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท แบ่งเป็น
- ค่าใช้จ่ายในร้านค้าทั่วไป สูงสุด 30,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายในสินค้า OTOP สูงสุด 20,000 บาท
ตัวอย่าง
- ซื้อสินค้า/บริการทั่วไป จำนวน 25,000 บาท โดยได้รับ e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 25,000 บาท เนื่องจากยังไม่เกินวงเงิน 30,000 บาทส่วนแรก
- ซื้อสินค้า OTOP จำนวน 50,000 บาท โดยได้รับ e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 50,000 บาททั้งจำนวน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิจากทั้งวงเงินส่วนแรก 30,000 บาท และส่วนที่สองอีก 20,000 บาทรวมกัน
- ซื้อสินค้า/บริการทั่วไป จำนวน 50,000 บาท โดยได้รับ e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เพียง 30,000 บาท เฉพาะวงเงินส่วนแรกเท่านั้น
- ซื้อสินค้า/บริการทั่วไป จำนวน 40,000 บาท และ สินค้า OTOP จำนวน 10,000 บาท โดยได้รับ e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เพียง 40,000 บาท โดยแบ่งเป็นสิทธิลดหย่อนจาก สินค้า/บริการทั่วไป จำนวน 30,000 บาท (วงเงินส่วนแรก) และค่าซื้อสินค้า OTOP อีก 10,000 บาท (วงเงินส่วนที่
สอง)
ทั้งนี้ คุณสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่สามารถออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร etax.rd.go.th
ในกรณีสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีรายได้ ต่างฝ่ายสามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุดคนละ 50,000 บาท ทั้งนี้ ถ้ามีค่าซื้อสินค้าหลายรายการ คุณสามารถรวมค่าซื้อสินค้าย่อยๆ ทุกจำนวนมาหักลดหย่อนได้แต่เมื่อรวมแล้วจะนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
สินค้าและบริการที่ลดหย่อนภาษีได้
1. สินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
โดยปกติสินค้าและบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีใบกำกับภาษีออกมาพร้อมกันด้วย ซึ่งการใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt 2.0 จะต้องใช้ใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ซื้อด้วยเท่านั้น (รอประกาศเป็นกฎหมาย) (ไม่สามารถใช้ใบกำกับภาษีแบบกระดาษได้)
ตัวอย่างสินค้าหรือบริการที่ลดหย่อน Easy E-Receipt 2.0 ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ เสื้อผ้าแบรนด์เนม ของใช้ในบ้านเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
2. สินค้าและบริการที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (non-VAT) บางรายการ ค่าซื้อสินค้าหรือบริการที่ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีเพียงบางรายการที่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-Receipt 2.0 ได้ ได้แก่ หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร E-Book สินค้า OTOP หรือสินค้า/บริการจากวิสาหกิจ ชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมเท่านั้น
ทั้งนี้ต้องใช้ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Receipt) ที่ปรากฏชื่อและข้อมูลผู้ชื้อด้วยเท่านั้น (ไม่สามารถใช้ใบเสร็จรับเงินแบบกระดาษได้)
ดังนั้น หากเป็นการซื้อสินค้าที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ เช่น ทองคำแท่ง, บัตร Gift Voucher หรือ จ่ายค่าบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ค่ารักษาพยาบาลหรือค่าทำศัลยกรรม จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
3. สินค้า OTOP หรือสินค้า/บริการจากวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม สินค้า OTOP หรือสินค้า/บริการจากวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-Receipt 2.0 ได้จะเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Tax Invoice) หรือ ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Receipt) ตามมาตรฐานของกรมสรรพากรและสินค้า/บริการดังกล่าวจะต้องเข้าหลักเกณฑ์การลงทะเบียนหรือจดทะเบียนต่อไปนี้แล้วเท่านั้น
- ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชน ที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
- ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
สินค้าและบริการที่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อน
สินค้าและบริการต่อไปนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับสิทธิลดหย่อน Easy Receipt 2.0 แม้ผู้ประกอบการจะสามารถออก E-tax invoice หรือ E-receipt ได้ก็ตาม
- ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่าซื้อยาสูบ
- ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ กล่าวคือ เริ่มต้นก่อนวันที่ 16 มกราคม 2568 หรือสิ้นสุดหลัง 28 กุมภาพันธ์ 2568 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568 ก็ตาม
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พัก โรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม
นอกจากนี้ สินค้าและบริการต่อไปนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิลดหย่อน Easy E-Receipt ได้เนื่องจากเป็นสินค้าและบริการไม่อยู่ในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ทองคำแท่ง
- ค่ารักษาพยาบาล
- ค่าทำศัลยกรรม
- ผักผลไม้สด
- เนื้อสัตว์สด
- หน้ากากอนามัย อุปกรณ์ทางการแพทย์
- บัตรของขวัญ (Gift Voucher) ที่ซื้อจากห้างสรรพสินค้า
เงินเดือนเท่าไหร่เสียภาษี 2568
หลังจากที่ทราบฐานภาษี หรือเงินได้สุทธิของตัวเองแล้ว ก็จะสามารถคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายในแต่ละปีได้ หากคุณมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 150,000 บาทต่อปีขึ้นไป ก็จำเป็นจะต้องเสียภาษีตามที่กำหนด และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เราขอยกตัวอย่างการคำนวณภาษีจากสมมติฐาน
ตัวอย่าง
- หากมีรายได้ต่ำกว่า 26,000 บาทต่อเดือน จะได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากมีเงินได้สุทธิต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี
- หากมีรายได้ 26,000 – 35,000 บาทต่อเดือน จะมีเงินได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาท แต่ไม่ถึง 300,000 บาทต่อปี จะต้องเสียภาษีในอัตรา 5% เป็นเงินโดยประมาณ 100 – 5,500 บาท
รายได้ต่อเดือน(บาท) | รายได้รวมทั้งปี(บาท) | เงินได้สุทธิ(บาท) | อัตราภาษี | เสียภาษีสูงสุด(บาท) |
15,000 | 180,000 | 30,000 | ยกเว้น | 0 |
20,000 | 240,000 | 80,000 | ยกเว้น | 0 |
26,000 | 312,000 | 152,000 | 5% | 100 |
30,000 | 360,000 | 200,000 | 5% | 2,500 |
40,000 | 480,000 | 320,000 | 10% | 9,500 |
50,000 | 600,000 | 440,000 | 10% | 21,500 |
80,000 | 960,000 | 800,000 | 20% | 75,000 |
100,000 | 1,200,000 | 1,040,000 | 25% | 125,000 |
500,000 | 6,000,000 | 5,840,000 | 35% | 1,559,000 |
ประโยชน์ที่ได้รับ
- ลดหย่อนภาษี: ช่วยลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้สูงสุด 50,000 บาท
- กระตุ้นเศรษฐกิจ: ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต
- ส่งเสริมธุรกิจ: ช่วยให้ธุรกิจมีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น
สรุป Easy E-Receipt 2.0
Easy E-Receipt 2.0 เป็นมาตรการที่ดีที่ช่วยทั้งประชาชนและธุรกิจ หากคุณมีแผนที่จะซื้อสินค้าหรือบริการในช่วงระยะเวลาดังกล่าว อย่าลืมขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือใบรับอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีนะครับ
ที่มา: iTAX, เรียบเรียงโดย: iphone-droid.net