IT News
ความเหมือนที่แตกต่าง “Apple – Samsung” ยักษ์สมาร์ทโฟน !
กลายเป็นคู่เปรียบเทียบที่น่าจับตาในสมรภูมิ “สมาร์ทโฟน” ระหว่าง “ซัมซุง” และ “แอปเปิล” แม้ทั้งคู่จะใช้กลยุทธ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ประสบความสำเร็จในตลาดได้ทั้งคู่
“เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล” ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจว่า การแถลงผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2555 ของทั้งคู่ในอีกไม่นานนี้ หากนำยอดขายสมาร์ทโฟนของทั้งสองบริษัทยักษ์ใหญ่มารวมกัน น่าจะกวาด
ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนโลกเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ขณะที่คู่แข่งรายอื่นไม่ว่าจะเป็นโนเกีย, เอชทีซี และรีเสิร์ช อิน โมชั่น (ริม) ต่างเข้าสู่ช่วงขาลงทั้งสิ้น
“แอปเปิลและซัมซุง” ซึ่งไต่เต้าขึ้นมาเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนในขณะนี้ นอกจากทั้งสองแห่งจะมีฐานที่มั่นห่างกันเกือบ 5,000 ไมล์ แต่ละรายยังใช้กลยุทธ์การทำธุรกิจที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
โดยฝั่ง “แอปเปิล” ซึ่งครองตำแหน่งบริษัทไอทีที่มีมูลค่าสูงสุดในโลกควบคู่กันไปแล้ว และใช้วิธีขายผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เพียงตัวเดียวคือ “ไอโฟน” และให้ความสำคัญกับเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการทำกำไรต่อเครื่องมากกว่ายอดขาย ทั้งลงทุนมหาศาลไปกับการทำแบรนดิ้ง
มีมาตรการควบคุมร้านค้าปลีกอย่างเข้มงวด และชูจุดเด่นจากเรื่องซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นของตนเอง
ฟาก “ซัมซุง” บริษัทเทคโนโลยีที่มีรายได้สูงสุดในโลกปีที่ผ่านมา ใช้กลยุทธ์การจับตลาดแบบกว้าง เลือกที่จะเดิมพันกับการทำตลาดแบบหว่านแหด้วยการออกผลิตภัณฑ์หลากหลายรุ่น เช่น สมาร์ทโฟนตระกูลกาแล็คซี่ เพื่อทำให้สินค้าตอบสนองความต้องการของพันธมิตรธุรกิจแทบทุกราย โดยเพิ่มศักยภาพการทำกำไรด้วยการควบคุมโรงงานผลิตของตนเอง
เส้นทางเดินที่แตกต่างกันของทั้งคู่ได้พิสูจน์แล้วว่า โมเดลธุรกิจที่ต่างกันสุดขั้วก็สามารถได้รับชัยชนะในสงครามธุรกิจได้ไม่ต่างกัน
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด “ไอดีซี” ระบุว่า ทั้งแอปเปิลและซัมซุงครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนโลกประมาณรายละ 25% ตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 219,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2555
นอกจากนี้ “แอปเปิลและซัมซุง” ยังเป็นบริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเพียงแค่สองรายที่ชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งรายอื่นในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งตลาดของแอปเปิลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.5% จาก 16%
ในปลายปี 2553 ส่วนซัมซุงครองส่วนแบ่งตลาด 22.8% ในไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เพิ่มจาก 9.4% ในปลายปี 2553
ไม่ใช่แค่นั้น บริษัทวิจัยตลาดในอังกฤษอย่าง “สแตรทิจี อะนาไลติกส์” ยังรายงานว่า ทั้งแอปเปิลและซัมซุงรวมกันน่าจะทำกำไรผลประกอบการได้เป็นสัดส่วนถึง 91% จากยอดรวมกำไรผลประกอบการของแบรนด์ผู้ผลิตโทรศัพท์ในไตรมาส 4 ทั้งหมดเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของยักษ์ใหญ่ในตลาดสองรายเพื่อช่วงชิงความเป็นหนึ่งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย
ในเดือน เม.ย. 2554 แอปเปิลฟ้องร้องซัมซุงเรื่องการออกแบบสมาร์ทโฟนและการละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งซัมซุงก็ฟ้องกลับเช่นกัน ทำให้เกิดสงครามทางกฎหมายในศาลทั้งหมด 9 ประเทศ
ล่าสุดซัมซุงยังท้าชนกับแอปเปิลโดยตรง ด้วยการทำโฆษณาสมาร์ทโฟนกาแล็คซี่ในรูปแบบล้อเลียนแบรนด์แอปเปิล
แม้จะเปิดศึกใส่กันหลายด้านทั้งคู่ก็เรียนรู้ที่จะร่วมมือกันในบางกรณี เนื่องจากแอปเปิลเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของซัมซุงในธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ เช่น หน้าจอและชิปประมวลผล ส่วนการต่อสู้กันทางกฎหมายไม่ได้ทำให้ยอดขายหรือฐานะการเงินของทั้งสองบริษัทลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด
“ราจีฟ ชานด์” หัวหน้าทีมวิจัย “รัทเบิร์ก แอนด์ ซีโอ” มองว่า แอปเปิลและซัมซุงคงไม่เป็นแบรนด์ไอทีแค่สองรายที่แข่งขันกันอย่างจริงจังในตลาดสมาร์ทโฟนตลอดไป เพราะตลาดมีผู้เล่นรายเล็กกว่า เช่น หัวเว่ย เทคโนโลยี ซึ่งกำลังเติบโตแม้ขณะนี้จะยังมีขนาดเล็ก
“เนล มอว์สตัน” ผู้อำนวยการบริหาร บริษัทสแตรทิจี อะนาไลติกส์มองว่า อุตสาหกรรมโทรศัพท์มีวัฏจักรคือการมีบริษัทใดบริษัทหนึ่งขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดและกินส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมดสักพัก จากนั้นก็จะลดบทบาทลง สิ่งเหล่านี้เห็นได้จากการที่โมโตโรล่าเคยขึ้นเป็นเจ้าตลาดในปี 2523 จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นอีริคสัน และปี 2543 เปลี่ยนมาเป็นโนเกีย
วันนี้มาถึงคิวของแอปเปิลและซัมซุงอุตสาหกรรมก็ปรับตนเองเข้าสู่สถานะการตั้งรับ เพื่อรับมือกับการเติบโตแบบครองตลาดสมาร์ทโฟนของแอปเปิลและซัมซุง โดยโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ในอเมริกาอย่าง “เวอไรซัน คอมมิวนิเคชั่น” ซึ่งนักลงทุนไม่พอใจกับต้นทุนที่บริษัทต้อง
แบกรับในการทำตลาด “ไอโฟน” เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ต้องออกค่าเครื่องให้ลูกค้าที่ใช้ไอโฟนถึง 400 เหรียญสหรัฐต่อเครื่อง ทำให้ต้องออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ด้วย
“ฟรานซิส แชมโม” หัวหน้าฝ่ายการเงิน “เวอไรซันฯ” กล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องดึงอีกรายเข้ามาในตลาดสมาร์ทโฟน และบริษัทก็จะสนับสนุนไมโครซอฟท์อย่างเต็มที่
ฟาก “เอทีแอนด์ที” ก็ไม่ต่างกัน บริษัทให้น้ำหนักกับสมาร์ทโฟน “ลูเมีย 900” ของ “โนเกีย” ซึ่งใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โดย “โนเกีย” ได้ออกมาประกาศว่า ยอดขาย
ในตลาดอเมริกายังแข็งแกร่ง แต่ยอดขายทั่วโลกยังค่อนข้างผสมปนเปกันไป อีกทั้งยังจะลดราคา “ลูเมีย” ลงมาอีกมากในอนาคต
สำหรับ “ซัมซุง” ปัจจุบันเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น บรรดานักวิจัยต่างคาดการณ์ว่าสมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ของ “ซัมซุง” จะช่วยเพิ่มยอดขายสมาร์ทโฟนของบริษัทขึ้นเป็นเท่าตัวในปีนี้
ข้อมูลจาก “ไอดีซี” ระบุว่า ปีที่แล้วซัมซุงมียอดส่งสมาร์ทโฟน 94 ล้านเครื่อง เทียบกับแอปเปิลที่มียอดส่งสินค้าที่ 93.2 ล้านเครื่อง
“ซัมซุง” แซงอดีตผู้นำตลาดอย่าง “โนเกีย” ด้วยการทำให้สายผลิตภัณฑ์
สมาร์ทโฟนของตนรองรับหลากหลายระบบปฏิบัติการ และทุ่มทุนไปกับการสนับสนุนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
นอกจากนี้ ยังได้ประโยชน์จากการที่บรรดาดีลเลอร์ต้องการหาผลิตภัณฑ์
ทางเลือกนอกเหนือไปจาก “ไอโฟน” เพื่อให้มีสินค้าหลากหลายระดับราคา ทั้งขนาดการทำตลาดของซัมซุงยังช่วยให้บริษัทลดต้นทุนค่าชิ้นส่วนได้มากกว่าคู่แข่งรายอื่น
สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ของ “ซัมซุง” แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 5 ระดับจาก “ราคาและฟังก์ชั่น” แต่ละระดับมีให้เลือก 2-3 รุ่น เพื่อรองรับโอเปอเรเตอร์และผู้จัดจำหน่าย
แต่ละราย นอกจากนี้ซัมซุงยังทำโทรศัพท์ที่รองรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์และระบบปฏิบัติการ “บาดา” ของตนเองด้วย
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผลประกอบการของซัมซุงซึ่งเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ 27 เม.ย.
ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าผลกำไรสุทธิเติบโตขึ้น 80% มีมูลค่าประมาณ 4,400 ล้านเหรียญสหรัฐ มีปัจจัยหลักมาจากยอดขายโทรศัพท์มือถือ, ยอดขายชิปประมวลผล และยอดขายส่วนธุรกิจโทรทัศน์ที่ฟื้นตัว
ฟากผลประกอบการของ “แอปเปิล” คาดว่ากำไรสุทธิจะเติบโตขึ้น 57% มีมูลค่าประมาณ 9,400 ล้านเหรียญสหรัฐ
ยอดขาย “ไอโฟน” ของแอปเปิลในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 37 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว แต่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบเดียวของแอปเปิลจะได้รับการทดสอบเมื่อสมาร์ทโฟนเริ่มเป็นสินค้าแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอย่างอินเดียและจีน
แอปเปิลอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่า จะวางจุดยืนบริษัทให้จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ไฮเอนด์ต่อไป หรือจะเข้ามาเล่นในตลาดระดับกลางซึ่งเป็นแมสมาร์เก็ต
ที่มา : มติชน