ข่าวประชาสัมพันธ์
เอไอเอส ผนึกสภากาชาดไทย หนุนการทำงาน อสต. อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว
เดินหน้าสานต่อภารกิจ “เอไอเอส 5G สู้ภัยโควิด-19” นำเทคโนโลยีและศักยภาพของเครือข่าย 5G เสริมทัพสาธารณสุขป้องกัน เฝ้าติดตาม และฟื้นฟูประเทศจากโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผนึกสภากาชาดไทยและภาคีเครือข่าย ติดอาวุธดิจิทัลให้กับ อสต. อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบ 2 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยสนับสนุนซิม “Sawasdee AEC” มอบฟรีอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้งานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” พร้อมมอบฟรีประกันภัย โควิด-19 เพื่อความอุ่นใจระหว่างติดตามการระบาด
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย นับได้ว่าอยู่ในแดนบวก ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตอยู่ในระดับคงที่อย่างต่อเนื่อง ด้วยการทำงานอย่างมุ่งมั่นของบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล พลังของอาสาสมัครประเภทต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ คอยให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ เฝ้าระวังและติดตามคนในชุมชนอย่างใกล้ชิด ประกอบกับความร่วมมือของภาคประชาชนที่ร่วมกันเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ แต่ทว่ามาตรการคลายล็อกดาวน์ที่รัฐบาลได้ผ่อนปรนให้ภาคธุรกิจต่างๆ ได้กลับมาเปิดให้บริการอย่างปกติ ตลอดจนการเริ่มกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อาจจะนำมาซึ่งความเสี่ยงในการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ได้
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลได้มีส่วนนำนวัตกรรม พร้อมขีดความสามารถของเครือข่าย 5G ไปเสริมประสิทธิภาพงานด้านสาธารณสุขไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านภารกิจ “เอไอเอส 5G สู้ภัยโควิด-19” โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล รวมถึงเข้าไปสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้สามารถใช้เทคโนโลยีในการเฝ้าระวัง คัดกรองและติดตามประชาชนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดทั่วประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งกลุ่ม ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ในภาคธุรกิจบริการ และภาคอุตสาหกรรม คือ “กลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ซึ่งปัจจุบันมีการขึ้นทะเบียนและกระจายตัวทำงานทั่วราชอาณาจักร รวมกว่า 3 ล้านคน ที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญในการดูแลและป้องกันเรื่องสุขอนามัยและสาธารณสุข เนื่องจากเป็นประชากรที่พักอาศัยในประเทศที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 เช่นกัน
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญในการเฝ้าระวัง และติดตามกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 เข้าสู่ระบบการฟื้นฟูและรักษา เอไอเอส จึงได้ สนับสนุนโครงการ “รวมใจต้านภัย COVID-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ” ซึ่งสภากาชาดไทย สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมมือกันจัดขึ้น เพื่อให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติมีความรู้ ความเข้าใจและเกิดความตระหนักในการป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 และสามารถป้องกันตนเองและครอบครัวจากการแพร่กระจายของโควิด-19 ผ่านการใช้
แอปพลิเคชัน “พ้นภัย” ซึ่งพัฒนาโดยสภากาชาดไทย ที่ได้ใช้เป็นเครื่องมือให้ประชาชนแจ้งข่าวสารภัยธรรมชาติและภัยพิบัติ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด จึงได้บูรณาการแอปฯ พ้นภัยมาใช้ในการรับมือโควิด โดยให้แรงงานข้ามชาติ ที่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) และแกนนำหอพักแรงงานข้ามชาติที่มีส่วนร่วมในการค้นหาผู้ที่มีอาการหรือสงสัยอาการของโรคให้แจ้งข้อมูลผ่านแอปฯ พ้นภัย เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำต่างๆ ในการดูแลสุขภาพ ที่มีทั้งภาษาไทย เวียดนาม เมียนมาและกัมพูชา ให้ อสต. นำไปแนะนำแก่กลุ่มเพื่อนแรงงานต่างด้าวด้วยกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด
เอไอเอสจึงตั้งใจที่จะร่วมสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ ด้วยการให้ อสต.สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตบนแอปฯ พ้นภัยได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นเวลานาน 1 ปี พร้อมมอบสิทธิ์ประกันภัยโควิด-19 มูลค่า 100,000 บาท นาน 45 วัน สำหรับ อสต.ที่ใช้เครือข่ายเอไอเอส อย่างไรก็ตาม อสต.ที่ใช้เครือข่ายอื่น เอไอเอส ก็พร้อมที่จะมอบซิมเติมเงินวัน–ทู–คอล “Sawasdee AEC” เพื่อให้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบนแอปพลิเคชันพ้นภัย ฟรี! พร้อมมอบสิทธิ์คุ้มครองประกันภัยโควิด -19 เช่นกัน
ด้าน นายแพทย์พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “โครงการรวมใจต้านภัยโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ผ่านมาสภากาชาดไทยและภาคีเครือข่าย ได้มอบชุดธารน้ำใจให้กับแรงงานข้ามชาติและครอบครัวที่ว่างงาน เพราะถูกเลิกจ้างและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจังหวัดต่างๆ ไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 5,368 ชุด
นอกจากนี้ทางโครงการยังได้รับการสนับสนุนประกันภัยและอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในงานแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” จากเอไอเอส อำนวยความสะดวกอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวและแกนนำแรงงานที่ผ่านการอบรมและได้รับสิทธิ์ในการแจ้งข่าว เพื่อพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวและแกนนำหอพักแรงงานข้ามชาติ ให้มีส่วนร่วมในการค้นหาผู้มีอาการของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและค้นหาแรงงานข้ามชาติที่เข้าประเทศมาโดยยังไม่ได้ผ่านการกักกันโรค 14 วัน โดยแจ้งข่าวผ่านแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” เพื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะได้ไปสอบสวนโรค คัดกรอง และส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการสาธารณสุขต่อไป
เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ เอไอเอส ได้นำความเชี่ยวชาญทางด้านโครงข่ายและเทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพ ปลดล็อกขีดจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ของเหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ให้สามารถเฝ้าระวัง ติดตามกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติได้แบบไม่มีสะดุดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมมอบความอุ่นใจเพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของ อสต. ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มาตรการเฝ้าระวังสภาวะการแพร่ระบาดในภาพรวมเป็นไปในทิศทางบวก โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ”