ข่าวประชาสัมพันธ์
เน็ตฟลิกซ์ ประกาศสร้าง Alice in Borderland ต่อในซีซั่น 2 และนี่คือ 10 เรื่องน่ารู้นี่แฟนซีรีส์พลาดไม่ได้
เน็ตฟลิกซ์ ประกาศว่า Alice in Borderland (อลิซในแดนมรณะ) ออริจินัลซีรีส์จากญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นจากการ์ตูนแนวไซไฟ-ระทึกขวัญ จะได้โลดแล่นบนจอต่อในซีซั่นที่ 2 เร็ว ๆ นี้
Alice in Borderland เป็นผลงานการกำกับของชินซุเกะ ซาโตะ หลังจากที่เขาได้แสดงฝีมือไว้ในผลงานภาพยนตร์สุดฮิตที่สร้างจากมังงะเช่นกันอย่าง Gantz (สาวกกันสึ พันธุ์แสบสังหาร) และ Kingdom (สงครามบัลลังก์ผงาดจิ๋นซี) โดยซีรีส์เรื่องนี้ได้ขึ้นแท่นเป็นผลงานออริจินัลแบบไลฟ์แอ็กชันจากญี่ปุ่นที่มีผู้ชมสูงสุดบนเน็ตฟลิกซ์ไปเป็นที่เรียบร้อย ครองใจผู้ชมได้ทั้งในเอเชียและทั่วโลก แต่ในระหว่างที่เรารอลุ้นกันว่าซีซั่น 2 จะมีเกมแห่งความเป็นความตายแบบไหนมาให้ได้ตื่นเต้นกันอีก เราขอหยิบเรื่องน่าสนใจจากเบื้องหลังการสร้างซีซั่นแรกมาเล่าให้ฟังกันพลาง ๆ
1 หลังจากเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา Alice in Borderland ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมในเอเชียอย่างรวดเร็ว จนติดท็อปชาร์ต 10 อันดับคอนเทนต์ยอดนิยมทั้งในไทย มาเลเซีย ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม พ่วงด้วยสถิตินอกเอเชีย ขึ้นแท่นท็อป 10 ในเยอรมนี ฝรั่งเศส โปรตุเกส ออสเตรีย และกรีซด้วยเช่นกัน โดยรวมแล้ว ซีรีส์ฮิตเรื่องนี้ขึ้นมาติดอันดับท็อป 10 ในเกือบ 40 ประเทศทีเดียว
2 ซีรีส์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจากการ์ตูนสุดฮิตชื่อเดียวกันของ ฮาโระ อาโสะ โดยก่อนหน้านี้ เคยตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสาร Weekly Shonen Sunday S และ Weekly Shonen Sunday ในญี่ปุ่น ตลอดช่วงปี 2010-2016
3 สถิติการเสิร์ชชื่อของซีรีส์ Alice in Borderland พุ่งกระฉูดทั่วโลกในช่วงที่การเปิดสตรีมซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์ โดยนอกจากความสนใจในตัวซีรีส์เองแล้ว ผู้ชมทั่วโลกยังเสิร์ชหาชื่อนักแสดงนำอย่าง เคนโตะ ยามาซากิ และ ทาโอะ ทสึจิยะ ซี่งเป็นที่รู้จักดีอยู่แล้วในญี่ปุ่นอีกด้วย โดยพระเอกหนุ่มยามาซากิและผู้กำกับซาโตะนั้น เคยทำงานด้วยกันมาก่อนในโปรเจ็คภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Kingdom (สงครามบัลลังก์ผงาดจิ๋นซี) ที่ออกฉายไปเมื่อปี 2019 และดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนเช่นกัน
4 ฮาโระ อาโสะ ผู้เขียน Alice in Borderland ฉบับการ์ตูน เขียนคาแรกเตอร์ตัวเอกของเรื่อง “อะริสุ” โดยอ้างอิงมาจากชีวิตตัวเองล้วน ๆ โดยเขาบอกกับเราว่า “ผมยังจำตัวเองตอนอายุ 20 ได้ ก็เลยวางตัวละครของอะริสุขึ้นมาตามนิสัยของผมสมัยนั้น ที่เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจเอาซะเลย”
5 สำหรับฉากห้าแยกชิบุยะแบบไร้ผู้คนในตอนแรกของซีรีส์ (ซึ่งรู้กันอยู่ว่าชิบุยะเป็นแยกที่พลุกพล่านที่สุดในโตเกียว) ทีมงานไม่ได้ไปถ่ายทำที่ชิบุยะจริง ๆ แต่ไปถ่ายในฉากกลางแจ้งขนาดยักษ์ในเมืองอาชิคางะ จังหวัดโทะชิงิ อยู่ห่างจากชิบุยะของจริงไปกว่าร้อยกิโลเมตร
6 เดิมทีแล้ว จุดนัดพบของอะริสุและเพื่อน ๆ จะอยู่ที่หน้าร้านสตาร์บัคส์ในชิบุยะ แต่เพราะความซับซ้อนในการถ่ายทำในโลเคชั่นที่มีกระจกรายล้อม จึงต้องเปลี่ยนสถานที่นัดพบเป็นหน้าป้ายหน้าสถานีรถไฟแทน
7 สำหรับฉากที่อะริสุและเพื่อน ๆ ต้องวิ่งหนีออกจากถนนที่คนพลุกพล่าน เข้าไปหลบในห้องน้ำที่สถานีชิบุยะ จนกลับออกมาและพบว่าชิบุยะนั้นไร้ผู้คนไปเสียแล้วนั้น ทีมงานได้ถ่ายฉากนี้ทั้งหมดในภายในเทคเดียว ซึ่งเป็นเทคที่ยาวถึง 4 นาที ดังนั้น ทุกองค์ประกอบที่เห็นในฉากจึงต้องสร้างขึ้นมาจริง ๆ ทั้งหมด
8 ในการถ่ายทำฉากที่ชิบุยะนั้น มีเพียงแค่ประตูสถานีรถไฟ ห้องน้ำสาธารณะ และถนนเท่านั้นที่สร้างขึ้นจริง ส่วนทุกอย่างที่เหลือเป็นการใช้เทคนิค CGI ทั้งสิ้น โดยเพื่อความสมจริงทุกรายละเอียด ผู้กำกับฝ่ายวิชวลเอฟเฟคยังได้วาดเงาของตึกโตคิวที่ปกติจะทอดลงบนถนนในชิบุยะอีกด้วย
9 แอนิเมชั่นของเสือที่ออกมาในตอนที่ 5 ของซีรีส์ เป็นผลงานที่สร้างขึ้นโดยทีมงานจากทั่วโลก โดยเสือตัวนี้ควบคุมการผลิตโดยผู้กำกับแอนิเมชั่นชาวดัทช์ เอริค-ยาน เดอ บัวร์ ผู้เคยได้รับรางวัลออสการ์จากงานแอนิเมชันเสือในภาพยนตร์ Life of Pi (ชีวิตอัศจรรย์ของพาย) (2021) มาแล้ว ส่วนงานโปรดักชั่น มาจากสตูดิโอแอนิเมชั่นและวิชวลเอฟเฟคในอินเดียที่ชื่อ Anibrain โดยรวมแล้ว เสือตัวนี้ต้องใช้ทีมสร้างจากทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ อเมริกา (ลอสแองเจลิส) และอินเดีย
10 ส่วนการสร้างเจ้าเสือดำในตอนที่ 4 นั้น ทีมวิชวลเอฟเฟคก็ลงทุนไปสวนสัตว์ เพื่อศึกษาเสือดำจริงๆในทุกรายละเอียด ตั้งแต่ภาพรวม การเคลื่อนไหว รวมไปถึงลักษณะของเส้นขนของเสือดำอีกด้วย