ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผสานความร่วมมือกับ AIS ผู้ให้บริการเครือข่ายดิจิทัลของประเทศ ขับเคลื่อนภารกิจสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยมิจฉาชีพออนไลน์ให้กับประชาชน ผ่านการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลและความรู้เท่าทัน
ภัยทางการเงิน เพื่อยกระดับความปลอดภัยทั้งในด้านการใช้งานบนโลกออนไลน์และการทำธุรกรรมทางการเงิน
โดยการทำงานเชิงรุกในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มคัลเลอร์การ์ดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการลงพื้นที่ติดอาวุธเสริมภูมิคุ้มกันภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างสุขภาวะดิจิทัลในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้ง ตำรวจไซเบอร์ และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พร้อมย้ำเป้าหมายความร่วมมือที่จะร่วมสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและยั่งยืนให้กับคนไทย

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ธปท. และ AIS จะร่วมกันทำงานเชิงรุก ใช้พลังของการสื่อสารให้ประชาชน “ตระหนักรู้หรือรู้เท่าทัน” (Self-Awareness) และ “ป้องกันตนเองจากภัยไซเบอร์ได้” (Self-Protection) อาทิ
- การจัดทำสื่อด้าน Cybersecurity เผยแพร่ผ่าน social media platform รวมถึง Online Learning Platform เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับการใช้งานดิจิทัลและบริการทางการเงินอย่างปลอดภัย
- การดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่มาร่วมสร้างสังคมอุ่นใจห่างไกลภัยไซเบอร์ กับโครงการ “CU TU Cyberguard
พลังสองสถาบันต้านภัยไซเบอร์” กิจกรรมที่จะร่วมสนับสนุนกลุ่มคัลเลอร์การ์ดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มีทักษะดิจิทัลและรู้เท่าทันภัยทางการเงินเพื่อส่งต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ โดยนำร่องจากโรงเรียนคลองใหญ่วิทยาคม อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นอีกก้าวสำคัญของการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาคเอกชน ของ ธปท. ในการสร้างภูมิคุ้มกันจากภัยทุจริตทางการเงินให้กับประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นการย้ำจุดยืนว่า ธปท. ตระหนัก และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาภัยทุจริตทางการเงินอย่างครบวงจร นอกเหนือจากการออกมาตรการทั้งของ ธปท.เอง และที่ร่วมมือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ธปท. มุ่งหวังว่าความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานครั้งนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้และเท่าทันต่อภัยทุจริตทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างยั่งยืน”
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และงานธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวเสริมว่า “ที่ผ่านมา AIS มุ่งเป็นแกนกลางของสังคมในการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยไซเบอร์ ผ่านแนวคิดการทำงานตั้งแต่การสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ในการติดตาม ตรวจสอบ และดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มมิจฉาชีพ การพัฒนาเครื่องมือด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ลูกค้าและประชาชนใช้ปกป้องการใช้งาน และการสร้างทักษะการใช้งานดิจิทัลในโครงการ อุ่นใจไซเบอร์ ที่จะช่วยให้รู้เท่าทัน ภัยไซเบอร์และมิจฉาชีพได้ ซึ่งการทำงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยในครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะทำให้ภารกิจในการยกระดับ Digital Wellness และ Financial Literacy รวมถึงการป้องกันภัยไซเบอร์ของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น เราเชื่อว่าด้วยความตั้งใจของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ จะเป็นการสอดประสานการทำงานให้สามารถบรรลุตามวัตถุประสงค์ และจะช่วยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยใช้งานดิจิทัลอย่างปลอดภัยไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ”
เรื่องน่าสนใจเพิ่มเติม: