บราเดอร์ เดินหน้าพัฒนาภาพรวมระบบการทำงานพร้อมปรับมุมมองของทีม ผนึกพลังรวมเป็นหนึ่งเพื่อเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่านโปรเจค ‘Brother ONE’ มั่นใจหากทุกส่วนผสานความร่วมมือ เน้นการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการทำงานในรูปแบบใหม่ที่สร้างประสิทธิผลสูงสุด วงจรธุรกิจโดยรวมย่อมเดินหน้าได้อย่างมั่นคง
นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้นำแนวคิด ‘Brother ASEAN ONE BODY’ ที่พัฒนาขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหลอมรวมสำนักงานสาขาของบราเดอร์ใน 6 ประเทศภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ และจากผลสำเร็จของแนวคิดดังกล่าว บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล ประเทศไทย จึงได้นำแนวคิดนั้นมาต่อยอดและปรับใช้กับการดำเนินงานของบริษัทฯ ภายใต้โปรเจคที่ชื่อว่า ‘Brother ONE’ พัฒนาทีมสู่ความเป็นหนึ่ง ด้วยการพัฒนา Brother Agile Team ที่รวมตัวแทนพนักงานบราเดอร์จากต่างแผนกเพื่อร่วมกันเฟ้นหา ปรับปรุง และพัฒนาการทำงานสู่ความเป็นเลิศด้วยแนวทางใหม่ๆ ที่ดีกว่า นำร่องด้วย 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการมุ่งเน้นเสริมศักยภาพด้าน Operation improvement, โครงการ CRM Database Center การบริหารจัดการฐานข้อมูลลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และโครงการพัฒนาสวัสดิการพนักงานบราเดอร์ให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานอย่างแท้จริง อาทิ การเพิ่มสวัสดิการให้แก่ครอบครัวพนักงาน จัดตั้งงบพิเศษให้พนักงานดูแลเรื่องสุขภาพ ซึ่งทั้ง 3 โครงการที่ทำนี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณมากกว่าปกติแต่อย่างใด เพียงแต่แบ่งการจัดสรรใหม่ให้เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้การบริหารจัดการและการรับฟังจากพนักงาน เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
“เราเริ่มต้นจากการหาข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำมาสู่การปรับปรุงที่ดียิ่งขึ้น ด้วยการจัดกิจกรรม MD Meet and Greet โดยในแต่ละครั้งบริษัทฯ จะเชิญพนักงานในทุกระดับมาร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยอย่างเป็นกันเอง เพื่อให้ทราบถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากเราร่วมกันปรับเปลี่ยนจะส่งผลดีต่อทุกกลไกในวงจรธุรกิจ” นายธีรวุธกล่าวถึงจุดเริ่มต้นการดำเนินงานโปรเจค ‘Brother ONE’ “เมื่อเราทราบปัญหา เราก็เดินหน้าจัดตั้ง ‘Brother Agile Team’ เข้ามาเพื่อเฟ้นหาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาให้ได้กระบวนการการทำงานที่ดียิ่งขึ้นเพื่อการเติบโตของบริษัทฯ อย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ Brother Agile Team ถือเป็นแนวทางการทำงานของบราเดอร์ยุคใหม่ พัฒนาขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน เพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นเพื่อช่วยให้ทำงานได้เร็ว มุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารกันในทีมให้มากขึ้น กล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น พร้อมปรับปรุงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มจากจุดเล็กๆ ทดลองให้แน่ใจก่อนที่จะขยายผลต่อไปในจุดที่ใหญ่ขึ้น
การทำงานของ Brother Agile Team ทำให้บราเดอร์เริ่มปรับระบบการกำหนด KPI ใหม่ โดยให้ 60% พุ่งเป้าไปที่ยอดขายของบริษัทฯ “ในปีงบประมาณ 2020 เราเริ่มปรับเกณฑ์การกำหนด KPI ให้ทุกแผนกมีเป้าหมายเดียวกันคือ ‘ยอดขายที่เติบโต’ โดยแต่ละส่วนต้องกำหนด KPI ของตนเพื่อมุ่งสู่ KPI รวมของบริษัทฯ ซึ่งถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญ หากเราทำได้นั่นหมายถึงเรามีความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่ดีในระยะยาว การที่จะเกิดขึ้นได้จริงนั้น พนักงานทุกคนของบราเดอร์ต้องร่วมมือกัน ปรับมุมมองความคิดในการทำงาน วางแผนร่วมกัน ปิดช่องโหว่ที่จะก่อให้เกิดปัญหา เพราะเราเชื่อว่าถ้าบริษัทฯอยู่ได้ พนักงานทุกคนก็อยู่ได้เช่นกัน” นายธีรวุธ กล่าวเสริม
“ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการปรับในจุดเล็กๆ ปัจจุบัน บราเดอร์ เริ่มขยายผลจากเป้าหมายการพัฒนาภายในองค์กรสู่กลุ่ม Stakeholders อื่นๆ ของบราเดอร์ด้วยเช่นกัน ที่ชัดเจนคือกลุ่มตัวแทนจำหน่ายที่เปรียบเสมือนแขนขาของบราเดอร์ เราได้เริ่มนำสิ่งที่ Agile ทีมค้นพบ พร้อมจัดกิจกรรม As a ONE Team เพื่อเข้าไปช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินงานให้แก่กลุ่มตัวแทนจำหน่ายผ่านการจัด Virtual Training การอบรมขึ้นพื้นฐานปรับจาก traditional trade สู่โลกออนไลน์ โดยมีตัวแทนจำหน่ายเข้าร่วมกว่า 100 รายจากทั่วประเทศ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและจากกระแสตอบรับดังกล่าวทำให้บราเดอร์เตรียมจัดอบรมในครอร์สต่อๆ ไปที่มีเนื้อหาเฉพาะในแต่ละส่วนที่จะช่วยพัฒนากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้แก่กลุ่มตัวแทนจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง” นายธีรวุธ กล่าวถึงผลลัพธ์การทำงานของ Brother Agile Team ที่ช่วยต่อยอดและพัฒนากลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มตัวแทนจำหน่าย
นอกจากนี้ บราเดอร์ยังได้ปรับรูปแบบการคืนกลับสิ่งดีๆ สู่สังคม ด้วยการสร้างสรรค์กิจกรรม CSR ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การริเริ่มและลงมือทำด้วยใจจริง “ในปีนี้รูปแบบการทำกิจกรรมด้าน CSR ของบราเดอร์จะปรับเปลี่ยนให้พนักงานทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอโครงการต่างๆ ที่ตนเห็นว่าเหมาะสมจะให้ความช่วยเหลือ โดยได้ตั้งงบประมาณสำหรับโครงการ CSR ขึ้นมาโดยเฉพาะ หากผ่านการพิจารณาก็สามารถทำได้ เช่น การบริจาคเครื่องพิมพ์ให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลนที่ได้รับการแจ้งมาจากเพื่อนพนักงาน และร่วมนำไปมอบให้เองด้วยใจจริง” นายธีรวุธ กล่าว
“ผมเชื่อว่าโปรเจค Brother ONE จะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญขององค์กร โดยเฉพาะท่ามกลางภาพรวมเศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กรที่แข็งแกร่งแบบองค์รวมเท่านั้นที่จะเดินหน้าต่อได้ การเตรียมความพร้อมขององค์กรที่แข็งแกร่งจากภายในเพื่อเพิ่มศักยภาพสู่ภายนอกจึงเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ในอนาคต บริษัทฯ ตั้งใจที่จะขยายผลของโปรเจค Brother ONE ไปสู่กลุ่ม Stakeholders อื่นๆ ให้ครอบคลุม เพราะนั่นหมายถึงการเกิดวงจรการอยู่ร่วมกันและประสบความสำเร็จร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว” นายธีรวุธ กล่าวสรุป