ข่าวประชาสัมพันธ์
ในปี 2020 งานของคน 1.8 ล้านคนจะตกเป็นของ AI
เมื่อ AI และ Big Data ไม่ใช่เรื่องของโลกอนาคต วิธีเอาตัวรอดที่ทุกคนต้องรู้ในโลกแห่งดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น
“ในปี 2020 งานของคน 1.8 ล้านคนจะตกเป็นของ AI” รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา “บิดาแห่งวิทยาการหุ่นยนต์ไทย” กล่าวในงาน HPE Discover More Bangkok เมื่อวันที่ 18 ก.ค. ที่ผ่านมา “แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีงานใหม่เพิ่มขึ้นมารองรับคนอีกถึง 2.3 ล้านคน”
สิ่งที่มาพร้อมกับความน่าตื่นเต้นของช่วงเปลี่ยนผ่านแห่งยุค ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่สมัยคลื่นแรกแห่งการปฎิวัติอุตสาหกรรม มาจนถึงปัจจุบันกับความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด (Exponential Growth) ที่มาพร้อมกับคำที่เริ่มติดปากทุกคนอย่าง “ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น” (Digital Transformation) นอกจากจะเป็นความรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้สัมผัสกับวิทยาการใหม่ๆ แล้ว สิ่งที่ตามมาคือ “ความกลัว” ที่เกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคงในที่ยืนของตนในสังคมรูปแบบใหม่ ที่อะไรๆ ก็ดูจะมี “เทคโนโลยีอัจฉริยะ” เข้ามาแทนที่ ทำให้ตลาดแรงงานเกิดความกังวลถึงบทบาทของตนในโลกที่ทุกอย่างกำลังถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติที่สามารถเก็บข้อมูล คิดวิเคราะห์ และประมวลผลออกมาได้ตามเวลาจริง (Real Time) แต่สำหรับดร. ชิตและคุณพลาศิลป์ วิชิวานิเวศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) กลับมองว่า ยุคนี้คือยุคแห่งโอกาส ที่แรงงานคนจะได้ก้าวขึ้นมาพัฒนาก้าวต่อไปของสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
“ในฐานะหนึ่งในสมาชิกชุมชนเทคโนโลยี เราให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรและการพัฒนางานวิจัย เพื่อการต่อยอดในอนาคตอยู่เสมอ” คุณพลาศิลป์กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง HPE Thailand และสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) “เรามองความร่วมมือนี้ในแง่ของการใช้ความเชี่ยวชาญของเรามอบกลับคืนสู่สังคมและประเทศของเรา โดยเราหวังว่า การพัฒนาร่วมกันในครั้งนี้ จะสร้างกรณีตัวอย่าง (Use Case) ที่สำคัญให้กับประเทศ เพื่อนำไปต่อยอดสู่แผนแม่บทในการพัฒนาประเทศอย่าง “ไทยแลนด์4.0” ได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ไม่ใช่แค่คำเท่ๆ แต่คือทางรอดเดียวของเรา
ดร. ชิต ในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ด้านการพัฒนาการศึกษาบุคลากรและเทคโนโลยี คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Human Development Center: EEC HDC) ได้กล่าวถึงภาพลักษณ์ของคำอย่าง AI, Machine Learning และ Big Data ว่า ในโลกที่กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว คำเหล่านี้ไม่ใช่แค่คำเท่ๆ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกต่อไป แต่กลับเป็น “หนทางรอด” เดียวของเรา สำหรับทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ไปจนถึงระดับประเทศ ในการเอาตัวรอดจากการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้น
“สำหรับโครงการ EEC เราตั้งเป้าที่จะผลิตบุคคลากรในการรองรับงานในสาขาต่างๆประมาณ 479,000 คนใน 10 เขตคลัสเตอร์ภาคตะวันออก โดย 38,000 คน จะรองรับงานเกี่ยวกับหุ่นยนต์ 120,000 คนจะรองรับตลาดงานด้านการพัฒนาดิจิทัล และ 15,000 คนจะประกอบอาชีพ Data Scientists” ดร. ชิตกล่าว “โดย HPE Thailand จะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการช่วยเราอบรม Data Scientists ในลักษณะ Train the Trainer เพื่อการพัฒนา AI ร่วมกับ 24 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่จะกลายเป็นผู้นำของเครือข่ายสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) ต่อไป ซึ่งความร่วมมือกับ HPE Thailand ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถด้าน AI และ Big Data เพื่อร่วมพัฒนาประเทศของเราต่อไป”
ไทยแลนด์ 4.0: ความร่วมมือสำคัญจากเอกชนระดับโลก
แม้ว่าประเทศไทยจะมีศักยภาพเหนือกว่าหลายๆ ประเทศข้างเคียง แต่ความร่วมมือจากเอกชน โดยเฉพาะจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างพาร์ทเนอร์สำคัญของโครงการฯ อย่าง HPE Thailand ก็เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้กลยุทธ์และแผนแม่บทนี้มีความพร้อม และสามารถเดินหน้าไปได้จริง
“ในแง่ของความร่วมมือในการพัฒนาประเทศตามแผนแม่บทไทยแลนด์ 4.0 ทาง HPE Thailand เล็งเห็นความสำคัญของการทำวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ภายในประเทศ ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเติบโตของความต้องการเทคโนโลยี AI และ Big Data” คุณพลาศิลป์กล่าว “ความร่วมมือของเรากับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยพัฒนางานวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการเทคโนโลยี AI ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) โดยความร่วมมือนี้นอกจากจะนำไปสู่การผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรี โท เอก และนักวิจัยที่มีศักยภาพในการสร้างระบบ AI ที่ประยุกต์ใช้งานได้จริงแล้ว ยังมีความจำเป็นอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งถูกวางไว้เป็น Smart City และ Digital Hub ในภูมิภาคอีกด้วย”
ในโครงการฯ HPE Thailand จะร่วมเป็นกำลังสำคัญในการนำผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาอบรมให้ความรู้กับบัณฑิตและบุคลากรทางเทคโนโลยี รวมไปถึงวางโครงสร้างพื้นฐานทางไอที (IT Infrastructure) ให้กับ Data Centers ต่างๆ ในกลุ่มเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) ในโครงการฯ โดยเป็นเทคโนโลยีระดับสูงที่สามารถเก็บและประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้ ตามหลักการ Edge to Cloud ที่มาพร้อมกับโมเดลความคุ้มค่าแบบ Consumption-based model ของ HPE GreenLake ที่ลดการผูกขาดราคาเหมาจ่าย ด้วยการจ่ายตามจำนวนการใช้งานจริง เพื่อลดต้นทุนการทำงาน