CAT ปรับแผนธุรกิจปีหน้ามุ่งพัฒนา New S-Curve หรือกลุ่มธุรกิจใหม่โดยเน้น Digital Service เตรียมขยายบริการ Smart City บนโครงข่าย “LoRa” รองรับเทรนด์ IoT และบิ๊กดาต้าเติบโตมหาศาล พร้อมเร่งผลักดันโครงการต่อเนื่องจากปี2560 ทั้งขยายเคเบิลใต้น้ำ และ “Digital Park Thailand” เมืองนวัตกรรมดิจิทัลครบวงจรในพื้นที่ EEC ปีหน้าหวังสร้างรายได้เพิ่มจากโครงการดาวเทียมภาครัฐ
พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า CAT ในฐานะหน่วยงานสื่อสารโทรคมนาคมภาครัฐเตรียมปรับแนวทางดำเนินธุรกิจปี 2561 จากเคยเน้นบริการโครงข่ายมามุ่งเน้นธุรกิจด้านบริการดิจิทัล (Digital service) มากขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขันขององค์กรให้ทันกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล
ทั้งนี้ การดำเนินงานปี 2561 จะเดินหน้าสานต่อโครงการสำคัญของปี 2560 ได้แก่ 1) โครงการขยายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศวงเงิน 2 พันล้านบาท เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานที่เพียงพอรองรับการเชื่อมโยง Big data รวมถึงส่งเสริมจุดแข็งให้ประเทศไทยขึ้นเป็นดิจิทัลฮับอาเซียน ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 1. การเพิ่มความจุโครงข่ายเพื่อขยายคาพาซิตี้ภายในประเทศ โดยเชื่อมโยงพื้นที่รอยต่อชายแดนมายังสถานีเคเบิลใต้น้ำของCAT 2.การขยายความจุของระบบโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยกำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 3. การก่อสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่เชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยล่าสุด CAT ได้ร่วมหารือแนวทางร่วมกันกับผู้ให้บริการจากประเทศมาเลเซีย เวียดนามกัมพูชา และจีน
2) การพัฒนาโครงข่ายไร้สาย LoRaWAN (Long-Range Wide Area Network) โครงข่ายใหม่ที่รองรับการพัฒนาบริการ IoT และ Smart city โดยเฉพาะและเป็นการปูทางสู่การให้บริการอัจฉริยะต่างๆของCATในระยะยาว จากการทดสอบใช้งานระบบตั้งแต่ต้นปีขณะนี้โครงข่าย LoRaWAN ได้ติดตั้งใช้งานโดยสมบูรณ์แล้วในโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ โดย CAT มีแผนขยายโครงข่าย LoRaWAN ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการใช้บริการ IoT มากยิ่งขึ้น และเตรียมเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปี 2561 โดยนักพัฒนาจากทุกภาคส่วนสามารถร่วมพัฒนานวัตกรรม IoT บนโครงข่าย LoRaWAN ที่มีเสถียรภาพสูงในอัตราค่าบริการต่ำ ทั้งนี้ CAT สามารถดำเนินการติดตั้งโครงข่าย LoRaWAN ได้อย่างรวดเร็วบนโครงสร้างพื้นฐานเดิมของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ CAT ให้บริการอยู่ ทำให้ต้นทุนต่ำและส่งผลให้ค่าบริการเชื่อมต่อข้อมูลของอุปกรณ์ IoT บนโครงข่าย LoRaWAN มีอัตราถูกมากเมื่อเทียบกับกับค่าใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเมื่อจำนวน
อุปกรณ์ IoT มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมหาศาลในอนาคตอันใกล้จะเป็นรายได้ที่ไม่น้อยและเป็นรายได้ระยะ
ยาวให้กับ CAT รวมถึง CAT ยังมีแผนจะเป็นทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายและเตรียมผันตัวเป็นผู้ให้บริการอัจฉริยะต่างๆร่วมกับพาร์ทเนอร์ นอกจากนี้ CAT ยังได้ร่วมกับกลุ่มสามารถ (SISC) ขยายบริการโครงข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล DTRS(Digital Trunked Radio System) บนคลื่นความถี่ย่าน 800 MHz จำนวน 1,000 สถานีฐานทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานได้อย่างเพียงพอ
การขยายโครงข่ายพื้นฐานดังกล่าวจะเกิดเสถียรภาพการเชื่อมโยงข้อมูลที่แข็งแกร่ง ซึ่ง CAT ได้นำมาสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ได้แก่
– Digital Park Thailand CAT ริเริ่มโครงการพัฒนา Digital Park Thailand เนื้อที่กว่า 700 ไร่
ในอำเภอศรีราชา ให้เป็นเมืองนวัตกรรมดิจิทัลครบวงจรในพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่พิเศษมีสภาพแวดล้อมด้านดิจิทัล รองรับเหล่านักลงทุนและสตาร์ทอัพในการคิดค้นต่อยอดนวัตกรรมและบริการต่างๆ สำหรับเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าพื้นที่ดังกล่าวและช่วยส่งเสริมผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ 4.0 ทั้งนี้ CAT มีแนวทางที่จะจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการฯ โดยหาเอกชนมาร่วมลงทุนพัฒนาพาร์ค ขณะนี้ Digital Park Thailand ได้บรรจุเป็นหนึ่งในโครงการร่วมทุน PPPของ EEC คาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนได้อย่างช้าไตรมาส 3 ปีหน้า
– ภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะที่ขณะนี้โครงข่ายมีความสมบูรณ์ใช้งานได้100% โดย CAT ได้ติดตั้งฟรีไวไฟครบทั้ง 1,000 จุด ครอบคลุมทั่วจังหวัดภูเก็ต พร้อมกับได้วางระบบแพลทฟอร์ม LORA เทคโนโลยีโครงข่ายไร้สายใช้พลังงานต่ำ เพื่อการสื่อสัญญาณระหว่างอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงและประหยัดพลังงาน ซึ่งขณะนี้ได้เปิดใช้งานเชื่อมต่อระบบ Smart Logistics ให้บริการ GPS Tracking ติดตามตัวบุคคล ยานพาหนะต่างๆ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ นอกจากนี้ยังมีระบบอื่นๆที่ทยอยเปิดใช้งานอย่างระบบ Smart Utility รองรับการทำงานของมิเตอร์อัจฉริยะสำหรับสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ตลอดจนการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น มิเตอร์วัดระดับน้ำ ระดับความชื้นใต้ดิน สามารถใช้ประโยชน์ด้านการเตือนภัยในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ฯลฯ โครงข่ายของ CAT สามารถรองรับการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวและชาวเมืองภูเก็ตซึ่ง CAT จะนำต้นแบบความสำเร็จของเมืองอัจฉริยะที่ภูเก็ต ขยายผลต่อไปยังเชียงใหม่ ขอนแก่น และพื้นที่อื่นๆต่อไป
นอกจากนี้ CAT ยังมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ โดยล่าสุด CAT ได้ลงนามกับปตท.ร่วมกันบูรณาการ“เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi)” ในพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ จ.ระยอง ปตท. และ “เขตนวัตกรรมดิจิทัลภาคตะวันออก (EECd)” ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยกรอบความร่วมมือที่สามารถพัฒนาร่วมกัน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ตรวจสอบท่อก๊าซธรรมชาติ แทนการใช้เฮลิคอปเตอร์ ที่ ปตท.ใช้อยู่ ในปัจจุบัน เป็นต้น ขณะที่ CAT มีพื้นที่ Data Center ใช้เก็บข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) และจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าปริมาณมากซึ่งอาจร่วมกันพิจารณาแนวทางสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมารองรับ
สำหรับผลประกอบการในช่วง 10 เดือนของปีนี้ CAT มีรายได้ 41,194 ล้านบาท รายจ่าย 41,218 ล้านบาท ขาดทุนจากการดำเนินงาน 24 ล้านบาท รายได้ที่ต่ำกว่าแผนธุรกิจเนื่องจากบริการหลักคือธุรกิจไร้สาย กลุ่มบริการโทรศัพฺท์ และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตมีการเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย โดยรายได้กลุ่มบริการโทรศัพฺท์ลดลง 5 ปีย้อนหลัง จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่คนใช้การสื่อสารด้วยดาต้าเป็นหลัก ส่งผลให้ เทรนด์เติบโตของบริการกลุ่มโทรศัพท์ระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่องเฉลี่ย 12 % โดยสิ้นปีนี้จะทำรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มบริการลื่อสารไร้สาย ยังคงเป็นรายได้ส่วนใหญ่โดยมีกำไรจากการขายส่งตามสัญญาให้บริการ HSPA ขณะที่ my เติบโตขึ้นเล็กน้อย และรายได้สัมปทานดีแทคลดลง ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เติบโตขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย (ประมาณ 100 ล้านบาท) ขณะที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการจ่ายค่าตอบแทนในโครงการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 500 ล้านบาท บวกกับมีค่าใช้จ่ายรายการพิเศษจากคดีกับกรมสรรพากรที่สิ้นสุดในปีนี้จำนวน 2,378 ล้านบาท ซึ่งรวมรับรู้เป็นรายจ่ายส่งผลให้ขาดทุนรวมประมาณ 2,402 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี มั่นใจว่า CAT สามารถกลับมามีกำไรในปีหน้าโดยปัจจัยสนับสนุน เช่น การลดต้นทุนจากโครงการ Early Retirement ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมเต็มตามเป้าหมายซึ่งจะส่งผลช่วยทำให้ต้นทุนบุคลากรลดลงในระยะยาว โดยระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมาต้นทุนลดลงเฉลี่ยเดือนละ 10 ล้าน นอกจากนี้ การฟื้นรายได้ปีหน้าของ CAT คาดว่าจะเกิดจากโครงการส่วนหนึ่งที่นำเสนอกระทรวง DE และคาดว่าจะเสนอครม.อนุมัติได้ในปี 2561 ได้แก่ โครงการดาวเทียมภาครัฐ และการยุติปัญหาคู่สัมปทานดีแทค และทรู ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่กระทรวง DE จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีและคาดว่าจะผ่านได้ไตรมาสแรกปีหน้า