ข่าวประชาสัมพันธ์
ดีแทค เปิดตัว 2 เยาวชนต้นแบบ พร้อมก้าวสู่การเป็น พลเมืองดิจิทัลคุณภาพ (A Good Digital Citizen) รับวันเด็กแห่งชาติ
ดีแทค เปิดตัว 2 เยาวชนต้นแบบ พร้อมก้าวสู่การเป็น พลเมืองดิจิทัลคุณภาพ (A Good Digital Citizen) รับวันเด็กแห่งชาติ
ดีแทค ยืนหยัดมุ่งพัฒนาเยาวชนก้าวสู่ยุคดิจิทัลจริงจัง สอดรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ด้วยแนวคิด Internet for all เน้นปูรากฐานเยาวชนให้รู้จักการเป็นพลเมืองดิจิทัลเทียบเท่านานาประเทศทั่วโลก โดยให้ความรู้พร้อมโอกาสสัมผัสประสบการณ์บนเวทีเยาวชนโลก ล่าสุดเปิดตัว 2 เยาวชนไทยต้นแบบพลเมืองดิจิทัลคุณภาพ (A Good Digital Citizen) รับวันเด็กแห่งชาติ ยึด 3แนวทาง รู้จริง ใช้เป็น และพัฒนาเพื่อสังคม พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดิจิทัลคุณภาพภายใต้โครงการ Safe Internet ครอบคลุมทั่วประเทศ
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทคกล่าวว่า “เทรนด์ของโลกบ่งชื้การเติบโตของอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล เป็นไปอย่างก้าวกระโดด สังเกตได้จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (Active Internet Users) ที่มีกว่า 3.2พันล้านคนคิดเป็น 41% ของประชากรทั่วโลกกว่า 7.2 พันล้าน เฉลี่ยการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 5.5% (ที่มา: www.wearesocial.net) นั่นหมายความว่า พลังของอินเทอร์เน็ตมันมีคุณค่ามหาศาลสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วมาก และแน่นอนว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นกลุ่มที่เกิดและโตมาในยุคแห่งดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเต็มตัว หรือที่เราว่า พลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) พบว่าจากการศึกษาของกลุ่มเทเลนอร์ใน 12 ประเทศทั่วโลก ในปีพ.ศ. 2557 มีเด็กและเยาวชนใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 101 ล้านคน และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 176 ล้านคนในปีพ.ศ. 2559 ซึ่งใน 85 ล้านคนนี้จะใช้มือถือในการเข้าอินเทอร์เน็ตในครั้งแรก ดังนั้นด้วยนโยบายของดีแทค ที่ต้องการเป็นผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตที่ดีที่สุดของประเทศ (The Best Internet Operator) ซึ่งนอกจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว การตระหนักถึงพฤติกรรมการใช้งานของเยาวชนก็เป็นสิ่งที่มุ่งมั่นตั้งใจ และพร้อมจะปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ (A Good Digital Citizen) ด้วย เพื่อสร้างรากฐานและค่านิยมที่ดีให้กับเยาวชนให้เกิดการรับรู้ รู้จักใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตในเชิงสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือรู้จักรับผิดชอบต่อสังคมด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ด้วย”
dtac & Telenor Youth Summit 2014 เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อเยาวชนที่ดีแทคจัดทำขึ้นเพื่อให้ความรู้และสร้างให้กลุ่มเยาวชนที่ผ่านจากโครงการนี้เป็นผู้นำความคิดคนรุ่นใหม่ (Youth Thought Leader) โดยเราได้ 2 ตัวแทนเยาวชนไทยคือ นางสาวอัสมา นาคเสวี และนายสิรพัชร บุณยะปาน ไปร่วมงานประชุมเยาวชนโลกว่าด้วยเรื่อง A Better Digital Future for all ซึ่งได้จัดขึ้นไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยทั้งสองคนได้นำเอาความรู้และไอเดียจากเยาวชนกว่า 14 ประเทศทั่วโลกมารวมรวมเป็นแนวทางในการสร้างเครือข่ายพลเมืองดิจิทัลคุณภาพให้กับเด็กและเยาวชนไทย 3 แนวทางหลักดังนี้
- รู้จริง – 80% ของเยาวชนทั่วโลก รู้จักการใช้งานอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลด้วยความคุ้นเคยและการเรียนรู้ด้วยตนเอง มีเพียง 50% ของเยาวชนเหล่านั้นที่จะรู้จริงว่าบทบาทและประโยชน์สูงสุดของการมีอินเทอร์เน็ตคืออะไร อะไรคือการใช้งานที่ถูกต้อง ถูกกฎหมาย ดังนั้นการเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ จะต้องรู้จักดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างถ่องแท้
- ใช้เป็น – เยาวชนนับเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงและเรียนรู้เรื่องดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นควรใช้ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตในเชิงสร้างสรรค์ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อาทิ การพัฒนาแอพลิเคชั่นเพื่อสร้างอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ การสืบค้นข้อมูล เป็นต้น
- พัฒนาเพื่อสังคม – จากการประชุมเยาวชนโลกครั้งนี้ พบว่า เยาวชนทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศของตนเป็นอย่างมาก แต่ละประเทศล้วนแล้วแต่พยายามนำเทคโนโลยีดิจิตอลและอินเทอร์เน็ตมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต และการศึกษา ดังนั้นการเป็นพลเมืองดิจิทัลคุณภาพต้องตระหนักถึงเรื่องของสังคม ต้องสร้างจิตสำนึกของการใช้ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเพื่อสร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางสังคม สามารถนำไปแก้ปัญหาสังคมและเดินหน้าประเทศชาติได้
นางสาวอัสมา นาคเสวี กล่าวว่า “ในฐานะเยาวชนที่เกิดและโตมาในโลกของดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต ยอมรับว่าหากไม่มีการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือผ่านการเรียนรู้อย่างแท้จริง อาจทำให้เยาวชนเกิดการใช้งานอย่างเคยชินในยุคของการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว โดยตนคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่เยาวชนควรได้รับการปลูกฝังหรือวางรากฐานการเรียนรู้เรื่องดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง เพราะนั่นหมายถึงเยาวชนจะเห็นโอกาสในการคิดสร้างสรรค์งาน โดยใช้มันเป็นเครื่องไม้เครื่องมือต่อยอดโครงการต่างๆที่เกิดประโยชน์กับตัวเองและสังคมได้ ในเวทีเยาวชนโลกต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ต่างคนต่างนำไอเดียมาเสนอเพื่อนำมาแก้ปัญหาในเชิงสังคมโลกได้ ตนได้นำโครงการSocial Enterprise Project ไปนำเสนอซึ่งเป็นโครงการ E Commerce เพื่อหญิงหม้ายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีรายได้จากอาชีพการปักผ้าคลุมผม (Hijab) และเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีและสื่อดิจิทัลมาช่วยในรูปแบบการขายผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมด้วยสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยการพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมดีไซน์เนอร์จากหลากหลายมาให้ความรู้และออกแบบ จากนั้นก็จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นโดยการสร้างเพจเป็นช่องทางการขายผ่านเพย์เม้นท์เกตเวย์ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ สร้างชุมชน สร้างรายได้ผ่านการใช้อินเทอร์เน็ต จากกลุ่มลูกค้าคนมุสลิมในไทยและขยายต่อไปต่างประเทศได้ โดยแนวความคิดนี้สามารถนำไปเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มประเทศที่มีคนมุสลิมได้ทั่วโลกอีกด้วย”
ทางด้านนายสิรพัชร บุณยะปาน กล่าวว่า “ผมคุ้นเคยเรื่องของดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่จำความได้ จนเมื่อได้มีโอกาสเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ยิ่งรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กัน เพราะเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้เกิดการเติบโตในเชิงเศรษฐกิจ เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ และมั่นใจว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประชากรของโลกจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียม และนั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเริ่มวางรากฐานเกี่ยวกับเรื่องดิจิทัล และอินเทอร์เน็ตให้กับเยาวชนให้เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ด้วยการให้เขาตระหนักคิดถึงการพัฒนาและความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ผมเสนอโครงการที่ชื่อว่า Market Place of Idea คือการวาง Internet Infrastructure ให้สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลของบุคคลหรือองค์กรได้เอามาไว้ในที่เดียว โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จากนั้นเราใช้อินเทอร์เน็ตในการเชื่อมโยงคนที่มีแนวคิดคล้ายๆกันก็ร่วมมือกันในการคิดโครงการอาจจะเป็นในเชิงพาณิชย์ หรือจะเป็นการรวมตัวทำโครงการเพื่อสังคม โดยทุกคนสามารถเห็นข้อมูลที่ตรวจสอบและเชื่อถือได้ ในเชิงเศรษฐศาสตร์มันคือการสร้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการกลั่นกรองข้อมูลพื้นฐาน ผมเชื่อว่าหากประเทศไทยสามารถพัฒนาให้เยาวชนมีความเป็นพลเมืองดิจิทัลคุณภาพแล้ว โครงการนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการที่สะท้อนความสำเร็จตามนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลได้อย่างแน่นอน”
นอกจากการเป็นต้นแบบพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพแล้ว ทั้ง 2 เยาวชนยังได้ร่วมกับ ดีแทค ในการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสร้างเครือข่ายเยาวชนพลเมืองดิจิทัลคุณภาพภายใต้โครงการ Safe Internet ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นกิจกรรมสร้างแนวคิด ปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย โดยกิจกรรมจะจัดขึ้นในรูปแบบต่างๆ อาทิ Talk Show ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ เป็นต้น เพื่อสร้างเยาวชนในยุค Digital Future ที่พร้อมด้วยความรู้ ประสบการณ์ และต่อยอดในเชิงการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้