IT News
ดีแทค เผยผลสำรวจคนไทยติดกับดักภัยบนอินเทอร์เน็ต เสียเงินกว่า 3 แสนเพราะหลงเชื่อทำงานผ่านเน็ต
ดีแทค เผยผลสำรวจสาเหตุที่คนไทยติดกับดักภัยลวงบนโลกอินเทอร์เน็ต พบคนไทยเสียเงินกว่า 3 แสนเพราะหลงเชื่อทำงานผ่านเน็ต
ดีแทค ร่วมกับ เทเลนอร์กรุ๊ป เผยผลสำรวจสุดสะพรึง เกี่ยวกับภัยลวงที่คนไทยพบมากที่สุดบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยพบว่า 3 อันดับภัยลวงที่ทำให้คนไทยติดกับดักมากที่สุด คือ การลวงให้ทำงานผ่านเน็ตได้ง่ายๆที่บ้าน (Work from home) การลวงให้ประมูลสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต (Internet auction scam) และการลวงโดยการแฮกเข้าไปล้วงรหัสผ่านเฟซบุ๊ก (Facebook password hacking) อีกทั้งประเทศไทยยังติดอันดับเป็นประเทศที่เสียเงินไปกับภัยลวงออนไลน์มากที่สุดซึ่งเฉลี่ยเป็นมูลค่าถึง 370,000 บาทต่อคน ทั้งนี้ ดีแทค พร้อมประกาศจุดยืนเดินหน้าให้ความรู้ แนะคนไทยถึงเวลาต้องเข้าใจเรื่องรู้ทันสื่อดิจิทัล (Digital literacy) อย่างจริงจัง
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วงปีที่ผ่านมา ดีแทค และเทเลนอร์กรุ๊ป ได้ร่วมกันทำผลสำรวจภายใต้โครงการ Safe Internet การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดทำแต่ละครั้งเราจะนำผลสำรวจมาเผยแพร่เพื่อให้เป็นข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยและเอเชีย ซึ่งในแต่ละครั้งก็จะพบว่าข้อมูลจากผลการสำรวจบ่งชื้สัญญาณอันตรายที่กำลังจะเกิดขึ้นกับคนไทย โดยเฉพาะภัยลวงต่างๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบกับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ล่าสุด เราได้ทำการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 4 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และประเทศไทย ที่มีอายุระหว่าง 18-65 ปี เกี่ยวกับเรื่องการล่อลวงบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่าคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งนับว่ามีจำนวนเวลาที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วและผลการสำรวจในครั้งนี้จะเป็นข้อมูลเชิงลึกที่จะทำให้เราสามารถออกแบบการให้ความรู้และแนวทางป้องกันจากประสบการณ์ตรงจากผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อ ซึ่งดีแทค ในฐานะผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตชั้นนำของประเทศ เราทุ่มเทที่จะทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ใช้งานอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเรามุ่งมั่น ผลักดันให้ความรู้เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสของโลกอินเทอร์เน็ตที่จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์”
จากผลการสำรวจพบว่า 40% ของคนไทยตกเป็นเหยื่อการล่อลวงบนโลกอินเทอร์เน็ต 56% รู้ว่าเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวก็เคยตกเป็นเหยื่อการล่อลวงบนโลกอินเทอร์เน็ตและ 90% ของคนไทยถูกหลอกให้เสียเงินไปกับภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยประเทศไทยติดอันดับเป็นประเทศที่เสียเงินไปกับภัยลวงออนไลน์มากที่สุดในเอเชีย ซึ่งเฉลี่ยเป็นมูลค่าถึง 370,000 บาทต่อคน
3 อันดับภัยลวงบนโลกอินเทอร์เน็ตที่คนไทยติดกับดักมากที่สุด
อันดับ 1 40% กับภัย ‘Work from home’ ที่ล่อลวงผู้ใช้ด้วยคำว่า ทำงานง่ายๆที่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ต ได้เงินดี เงินเร็ว และทำให้ผู้ใช้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ โดยไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องมือ สุดท้ายพบว่า ทำงานให้ฟรีแต่ไม่เคยได้รับค่าตอบแทน
อันดับ 2 26% กับภัยที่ถูกหลอกให้ประมูลสินค้าบนออนไลน์ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้รับของกลับมา
อันดับ 3 21% กับภัยที่ถูกแฮกเอารหัสผ่านในการเข้าเฟซบุ๊ก โดยจะถูกเอาข้อมูลส่วนตัวไปใช้เพื่อทำธุรกรรมด้านอื่นๆ
ทั้งนี้จากการสำรวจ ดีแทค และเทเลนอร์กรุ๊ป จึงขอแนะนำวิธีการแก้ปัญหาเพื่อให้สถิติการถูกล่อลวงบนอินเทอร์เน็ตลดลง ดังนี้ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกรณีการถูกหลอกลวง หรือชักนำในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาเป็นประโยชน์หากเจอในกรณีเดียวกัน ก็จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ และควรลบอีเมลที่ไม่คุ้นเคย หรือที่แปลกๆ ทิ้งไป และพยายามไม่เปิด หรือทำข้อตกลงใดๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่ใช่อีเมลไวรัส พร้อมกับควรอัพเดทโปรแกรมสแกนไวรัสเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันในด่านแรก เพราะอาชญากรรมบนออนไลน์ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้โปรแกรมไวรัสในการดึงฐานข้อมูลของผู้ใช้นั่นเอง ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตควรเพิกเฉย หรือไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญกับโฆษณาที่ดูเกินไปจากความเป็นจริง เพราะอาจจะทำให้ต้องเสียเงินไปกับความเชื่อที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ และควรส่งต่อข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภัยลวงต่างๆ ให้เพื่อนและครอบครัวได้ทราบ ผ่านการใช้สื่อโซเชี่ยล เพราะจะได้เป็นการกำจัดภัยไม่ให้ขยายต่อไปยังคนอื่นได้อีก