ข่าวประชาสัมพันธ์
dtac เปิด 3 โครงการฝีมือเยาวชน แสดงมุมมองวิธีการแก้รับมือกัยภัยบนโลกออนไลน์ หลังผ่านค่าย dtac Young Safe Internet Leader Camp 1.0
เยาวชนไทยสนใจที่จะเปลี่ยนบทบาทตนเองจาก “ความเป็นเหยื่อ” บนโลกออนไลน์ สู่ “การเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลง” พัฒนาโครงการเพื่อสร้างสังคมโรงเรียนและชุมชนเพื่อนที่เข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือกับความเสี่ยงออนไลน์ ติดตามรายละเอียดของทั้ง 10 โครงการได้ที่นี่ https://www.safeinternet.camp/bestparctice
UNICEF องค์กรกลางภายใต้สหประชาชาติ ผู้ทำหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กทั่วโลก ได้กำหนดความเสี่ยงของเด็กที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่
- Content risk ความเสี่ยงที่เกิดจากการเข้าถึงข้อมูลเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย
- Contact risk ความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อจากการมีปฏิสัมพันธ์กับมิจฉาชีพ และบุคคลที่ไม่น่าไว้ใจ
- Commercial risk ความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อทางการค้าการซื้อขายที่ไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเกินจริง
- Conduct risk ความเสี่ยงในการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและกลายเป็นผู้กระทำต่อผู้อื่น
- Time-consuming risk ความเสี่ยงในการใช้อินเทอร์เน็ต และการใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นเวลานานเกินไป
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่จำเป็นต้องได้รับการให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะในการใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ และหนึ่งในปัญหาที่เราตระหนักดีคือ Cyberbullying ซึ่งเชื่อว่าเด็กส่วนใหญ่ต่างมีประสบการณ์ทั้งเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ดังนั้น น้องจะเป็นคนที่เข้าถึงและมีแรงผลักดันที่จะอยากแก้ปัญหานี้ดีที่สุด และในฐานะที่ดีแทคเป็นส่วนหนึ่งของ digital ecosystem เราได้ร่วมมือกับภาคีภาครัฐและประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดในเด็กและเยาวชนผ่านโครงการ Young Safe Internet Leader Camp โดยปีนี้กำลังดำเนินขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว”
ค่าย YSLC ได้ใช้ Design thinking มาเป็นกระบวนการเรียนรู้หลักช่วยให้เด็กๆ เข้าใจต่อปัญหาหนึ่งๆ ถ่องแท้และอย่างเป็นระบบ ผสานกับความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลากหลายมิติมาสร้างไอเดีย ตลอดจนแนวทางแก้ไข เพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างลึกซึ้งและรอบด้าน ที่ยิ่งไปกว่านั้น ค่าย YSLC ยังให้ทุนจำนวนหนึ่งเพื่อให้น้องๆ ได้นำไปต่อยอด สามารถแก้ไขปัญหาที่น้องๆ สนใจด้วยมุมมองของน้องเอง
3 โครงการ ฝีมือเยาวชนจาก แคมป์ YSLC 1.0 ที่ได้รับเลือกได้รับทุนไปต่อยอด คือ
- เข้าใจคนแกล้งและคนถูกแกล้งผ่าน “การ์ดเกม”
จากโจทย์ที่ว่า ‘จงออกแบบกิจกรรมเพื่อต่อต้านภัยร้ายในโลกออนไลน์’ ทีม Good Net Good Life จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กทม. จึงเลือกหยิบประเด็น‘Cyberbullying’ มาเป็นโจทย์สำคัญ เนื่องจากแนวโน้มพฤติกรรมการล้อเลียนและดูถูกของเด็กด้วยกันเอง
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างการรับรู้ ข้อเสีย ผลกระทบจาก Cyberbullying ในเพื่อนๆ นักเรียนด้วยกันเอง แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ “วิธีการ” นั้นมีประสิทธิภาพ จำต้องมี “ความสนุก” เข้ามาเป็นแกนกลาง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งก็คือเพื่อนๆ สนใจ และเมื่อระดมสมอง สุดท้ายก็ตกลงกันได้ว่าเราจะทำ ‘การ์ดเกม’ ขึ้นมา เพราะเป็นสิ่งที่น้องๆ เองก็ชอบเล่นอยู่แล้วด้วย และมันคงดีมากแน่ๆ ถ้าทุกคน ได้เล่นการ์ดเกมสนุกๆ ที่ผู้เผชิญปัญหาเป็นคนออกแบบด้วยตัวเอง พวกเขาจะได้ทั้งเพลิดเพลินไปกับเกม และเรียนรู้เรื่อง Cyberbullying ไปพร้อมๆ กันเลย
“สิ่งแรกที่เราทำเป็นการกำหนดคอนเซปต์ของการ์ดเกม ออกแบบให้ผู้เล่นสามารถรับบทบาทเป็นได้ทั้งคนแกล้งและคนถูกแกล้ง เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย การ์ดเกมจึงประกอบไปด้วยการ์ดคำถาม การ์ความรู้สึก และการ์ดรูปภาพ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นเปิดอกอธิบายความในใจเมื่อโดนกลั่นแกล้ง ซึ่งมีหลากหลายความรู้สึก ทั้งอายมาก เสียใจ เมื่อเพื่อนๆ ที่ร่วมเล่นในวงได้ฟังจึงเข้าใจมากขึ้นว่าการกลั่นแกล้งนั้นไม่ดีอย่างไร
- ยั้งคิดยั้งทำ ฮาวทูตั้งสติก่อนแชร์ข่าวมั่ว
จากการสำรวจสื่อออนไลน์ในช่วงปี 2561-2562 ในเครือข่ายโรงเรียนรัตนศึกษา จ.สุพรรณบุรี พบว่าปัญหาออนไลน์หนึ่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นคือ ปัญหาการแชร์ข่าวที่มีเนื้อหาเกินจริงหรือข้อมูลที่เป็นเท็จในสื่อสังคมออนไลน์ มากไปกว่านั้นคือมีการกระจายข้อมูลเหล่านี้สู่กรุ๊ปแชตของพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือเพื่อนต่างโรงเรียน ทำให้ข้อมูลผิดๆ ขยายวงกว้างออกไป
ทีม Young kids…ยั้งคิด จากโรงเรียนรัตนศึกษา จ.สุพรรณบุรี จึงได้นำกิจกรรมส่งเสริมความรู้ในรูปแบบ “ฐานเกม” มาใช้ในการกระตุ้นความสนใจและการเรียนรู้เรื่อง ‘ข่าวปลอม’ ของเด็กนักเรียน “ฐานเกม” มีที่มาจากฐานเกมในงานกีฬาสี ซึ่งในแต่ละฐานจะแทรกความรู้เรื่อง การใช้งานโซเชียลมีเดียอย่างถูกต้องและปลอดภัยเข้าไปด้วย
นอกเหนือจากกิจกรรมที่เป็นเกมแล้ว น้องๆ ยังจัดกิจกรรมอีก 2 กิจกรรม ในช่วงเวลาก่อนและหลังการทำฐานเกมด้วย โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นก่อนวันที่ทำฐานเกมคือการเปิดห้องเวิร์กช็อป ในหัวข้อ ‘การใช้อินเทอร์เน็ตแบบยั้งคิด’ โดยได้เชิญทีมพี่ๆ วิทยากรจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เข้ามาช่วยทำกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการใช้งานโซเชียลมีเดียผ่านการนันทนาการ ซึ่งทั้งสนุก ได้ความรู้ และสอนบทเรียนหลายอย่างให้กับน้องๆ
และกิจกรรมสุดท้ายคือ ‘กิจกรรมจริงหรือมั่ว’ ซึ่งเราจัดขึ้นในช่วงหลังจากการทำฐานเกม โดยกิจกรรมนี้คือการทำบอร์ดที่จำลองการแชร์ข่าวปลอมขึ้นมาในโรงเรียน โดยเราจะเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นลงไปบนบอร์ดว่าข้อมูลนี้จริงหรือมั่ว ผ่านการเขียนคอมเมนต์ลงบนกระดาษ รูปอีโมจิต่างๆ
- Chatbot นวัตกรรมส่งต่อเหยื่อจาก Cyberbullying สู่ผู้เชี่ยวชาญ
โปรเจกต์นี้ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยทีม The Project Breaker จากโรงเรียนสวนศรีวิทยา จ.ชุมพร โดยน้องๆ ในทีมได้รับแรงบัยดาลใจมาจากปัญหาในโรงเรียน โดยนักเรียนกลุ่มหนึ่งได้มีปากเสียงกันในชีวิตจริง และได้เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือ เหน็บแนมคู่กรณีผ่านสื่อโซเซียลจนเรื่องบานปลาย และเมื่อกลุ่มคนนั้นมาเจอกันในโลกแห่งความเป็นจริง จนทำให้เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทขึ้นในโรงเรียน
ด้วยปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่มีจำนวนมากขึ้นประกอบกับความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ จึงได้ริเริ่มพัฒนา Chatbot ที่น้องๆ มีความรู้ในระดับพื้นฐาน โดยฟังก์ชั่นหลักมีหน้าที่ในการรับฟังปัญหาและส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้เข้ามาแก้ปัญหา
อาจารย์ชวนันท์ ทัศนาภูมิ ครูที่ปรึกษากลุ่ม The Project Breaker บอกว่า “สิ่งที่ค่าย YSCL พิเศษกว่าค่ายอื่นๆ คือการออกแบบวิธีการเรียนรู้ที่ทลายกำแพงของห้องเรียน เรียนรู้โลกกว้างได้อย่างเต็มที่ ได้พบเจอสังคมภายนอก จัดสิ่งแวดล้อมเอื้อต่อความสนใจของน้องๆ เอง ไม่จำกัดว่าถูกหรือผิด พร้อมกับการพัฒนาผลลัพธ์อย่างต่อเนื่อง ไม่นิ่งอยู่กับที่ ขณะที่การให้ทุนต่อยอดเป็นแรงจูงใจให้น้องๆ นักเรียนกล้าที่จะคิด ลงมือและต่อยอด เพื่อให้สามารถพัฒนาสู่โซลูชั่นในการแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกินความคาดหมายไปมาก เรียกได้ว่าปลดล็อคศักยภาพของน้องๆ สู่โลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างแท้จริง”
Young Safe Internet Leader Camp จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ช่วยให้เด็กๆใช้เวลาในช่วงซัมเมอร์ ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม จากการที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ โดยแคมป์ YSCL Version 2.0 ปีนี้เปลี่ยนไปสู่รูปแบบใหม่ cyber camp เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อCOVID-19 โดยมีเยาวชนตอบรับเข้าร่วมแคมป์อย่างคึกคักกว่า 500 คน เริ่มเปิดค่ายในวันที่ 27 เมษายนนี้