ข่าวประชาสัมพันธ์
ESRI ชูเทคโนโลยี GIS ช่วย 4 ธุรกิจ รีเทล ซัพพลายเชน แบงก์กิ้ง เฮลธ์แคร์ ยุค New Normal
บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี ผู้นำด้าน Location Intelligence เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ระดับโลก เผยร้อยละ 53 ของผู้ประกอบการมอง Location Intelligence เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจปี 2563 แนะ 4 ธุรกิจ รีเทล ซัพพลายเชน แบงก์กิ้ง เฮลธ์แคร์ ปรับวิกฤตเป็นโอกาส ใช้เทคโนโลยี GIS ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการ Location Intelligence มาตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และช่วยให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ
นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากรายงานของ Forbes ระบุร้อยละ 53 ของผู้ประกอบการมีความเห็นตรงกันว่า Location Intelligence จะมีบทบาทสำคัญในการปรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายปี 2563 ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสพาธุรกิจเดินหน้า แนะ 4 ธุรกิจ ได้แก่ รีเทล ซัพพลายเชน แบงก์กิ้ง และเฮลธ์แคร์ ตั้งรับ New Normal โดยใช้ GIS เทคโนโลยีที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงพื้นที่และแสดงผลที่เข้าใจง่าย โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งวิเคราะห์ที่ตั้งสาขา ดูตำแหน่งและพฤติกรรมของผู้บริโภค จัดการเส้นทางขนส่ง เปรียบเทียบข้อมูลอดีตและปัจจุบัน รวมถึงคาดคะเนสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือกระบวนการที่ซ้ำซ้อน เป็นเครื่องมือตอบโจทย์ธุรกิจยุคหลังวิกฤต
“New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 ทุกธุรกิจจะหันมาใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ถ้าเรานำ Technology ที่มีประสิทธิภาพในการทำ Location Intelligence จะช่วยให้เราวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เห็นมุมมองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดย Location Intelligence จะไม่เพียงแค่ตอบคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป (What’s Next) แต่ยังหาคำตอบได้มากกว่าเดิมว่าเกิดขึ้นที่ไหน (Where’s Next) นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ รวมทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของธุรกิจได้เร็วขึ้น” นางสาวธนพรกล่าว
นางสาวธนพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจทุกประเภทสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GIS ปรับกลยุทธ์เชิงรุก แนะ 4 ธุรกิจหลัก คือ
- ธุรกิจค้าปลีก (Retails) จะเห็นได้ว่าธุรกิจนี้มีการปรับตัวค่อนข้างมากในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แต่ความต้องการซื้อสินค้ายังมีอยู่ ทำให้ธุรกิจเริ่มขยายการให้บริการขายสินค้าทางออนไลน์ (E-commerce) และ Delivery มากยิ่งขึ้น ธุรกิจจึงต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์พื้นที่การบริการของสาขาที่มีอยู่ร่วมกับข้อมูลยอดขาย GIS จะช่วยวิเคราะห์การจัดสรรสินค้าและเลือกที่ตั้งสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนการขนส่ง มีสาขาครอบคลุมความต้องการและจัดสินค้าได้ตรงกับกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่
- Supply Chainหรือห่วงโซ่อุปทาน GIS เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานแบบ End to End ตั้งแต่ตำแหน่งของแหล่งวัตถุดิบไปจนถึงตำแหน่งลูกค้าปลายทาง เพื่อติดตามสถานะแบบเรียลไทม์ ทั้งยังช่วยวิเคราะห์จัดเส้นทางการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Route Optimization) และช่วยธุรกิจให้สามารถเลือกศูนย์กระจายสินค้าได้อย่างเหมาะสมตามปริมาณความต้องการของผู้บริโภคในแต่ ละพื้นที่เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง
- ธุรกิจธนาคาร (Banking)Digital Platform จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ในยุคหลังจากวิกฤตโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือ QR code เพื่อลดการสัมผัสเงินโดยตรง ปรับเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มากยิ่งขึ้น โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ จะต้องมีการปรับตัว เมื่อคนใช้ Digital Platform มากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาที่สาขาธนาคารเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินลดลง ธนาคารจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการตั้งสาขา เทคโนโลยี GIS สามารถช่วยวิเคราะห์การเปิดปิดสาขาที่เหมาะสม แปรผันตามจำนวนผู้มาใช้บริการในพื้นที่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการให้ตรงกับรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้บริการที่อยู่ในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น
- ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) จากสถานการณ์โควิด-19 ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนต่างให้ความสำคัญในด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยี GIS เข้ามามีส่วนช่วยอย่างมากตั้งแต่การติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อในพื้นที่ สามารถนำสถิติการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์คาดการณ์การแพร่ระบาดรายวัน และแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ร่วมกับการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการแพร่ระบาด โดยอาศัยข้อมูลกลุ่มประชากรในพื้นที่ ทำให้หน่วยงานสามารถนำข้อมูลจากการวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ ประเมินความพร้อมในการให้บริการของโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยี GIS สนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นการร่วมกันพัฒนาระบบติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้เห็นข้อมูลเชิงลึก และเตรียมการณ์รับมือได้อย่างทันท่วงที หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายลง การนำเทคโนโลยี GIS มาใช้วิเคราะห์และช่วยวางแผนการทำงานจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นกับภาคธุรกิจ เมื่อธุรกิจรู้ “พิกัด” กลุ่มเป้าหมาย Where’s Next จะสามารถรู้ไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมทั้งบริบทโดยรอบ การมีข้อมูลเชิงลึกที่มีความถูกต้องและสามารถใช้ได้จริงแบบเรียลไทม์นี้ จะเป็นเครื่องมือที่จะนำไปใช้ขับเคลื่อนทุกธุรกิจให้ก้าวต่อได้อย่างรวดเร็ว” นางสาวธนพร กล่าวปิดท้าย