IT News
Exclusive : พาทัวร์ Huawei Test Lab กว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน จากสำนักงานของ Huawei ในจีน
Exclusive : พาทัวร์ Huawei Test Lab กว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนจากสำนักงานของ Huawei ในจีน
เรียกได้ว่าเอ็กซ์คลูซีฟสุดๆ สำหรับบทความนี้เนื่องด้วยทีมงาน iphone-droid.net ได้รับเกียรติจากทาง Huawei ให้ไปเยี่ยมชมสำนักงานของ Huawei ที่ปักกิ่ง พร้อมกับได้รับข้อมูลแบบที่หลายๆ คนรวมถึงตัวผมเองไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะมาเป็นสมาร์ทโฟน Huawei ต้องผ่านการทดสอบอะไรมาบ้าง ขั้นตอนการผลิตในโรงงานว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งในบทความนี้จะมาเล่าถึงห้อง Lab ของ Huawei ให้ได้รับทราบกันครับ โดยในห้อง Test Lab นี้ มีขั้นตอนต่างๆ ในการทดสอบทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้สมาร์ทโฟนที่ได้คุณภาพ ซึ่งต้องบอกเลยครับว่าแต่ละขั้นตอนน่าสนใจมากๆ ทีเดียวครับ เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะไม่เคยทราบข้อมูลหรือเห็นภาพเหล่านี้กันมาก่อน วันนี้ทีมงานขอพาไปทัวร์แบบเอ็กซ์คลูซีฟกันครับ
Automated End Device Test Center
ภายในห้องวิจัยนี้จะมีเครื่องทดสอบอัตโนมัติที่ใช้ในการทดสอบมากถึง 800 เครื่องด้วยกันครับ ซึ่งจะใช้สำหรับการทดสอบสมาร์ทโฟน 5,000 เครื่อง ได้ในเวลาเดียวกัน ห้องวิจัยแห่งนี้เป็นห้องวิจัยที่สนับสนุนการทำงานของแผนกต่างๆ ทั้งการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์ การทดสอบผลิตภัณฑ์ และฝ่ายบำรุงรักษาระบบปฏิบัติงานต่างๆ ช่วยให้ทุกฝ่ายทำงานโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ‘การพัฒนาซอฟต์แวร์’ ที่ไร้ข้อผิดพลาดให้เร็วที่สุด
ที่น่าสนใจคือระะบบอัตโนมัติในห้องวิจัยนี้ทำงานได้เร็วเทียบเท่ากับการทำงานของพนักงานมาถึง 10,000 คน ด้วยกันครับ ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ซี่งเป็นห้องวิจัยระดับชั้นนำของอุตสาหกรรม สามารถทำการวิจัยได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับห้องวิจัยของกูเกิล
The Communication Protocol Test Lab
ห้องวิจัยนี้รองรับมาตรฐานการสื่อสารและคลื่นวิทยุทุกประเภทเพื่อจำลองสภาพเครือข่ายให้หลากหลายมากที่สุด โดยสามารถจำลองเครือข่ายของ 14 ประเทศ 36 เมือง และสถานที่กว่า 100 สถานที่ (เช่น ภูเขา สำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และซูเปอร์มาร์เก็ต) โดยสามารถจำลองสัญญาณได้มากถึง 50 สัญญาณในเครือข่ายรูปแบบต่างๆ ถือเป็นระดับสูงสุดของอุตสาหกรรม
ห้องวิจัยนี้สามารถจำลองมาตรฐานการสื่อสารและคลื่นความถี่ได้ทุกประเภทเพื่อจำลองสภาพเครือข่ายให้ได้หลากหลายรูปแบบมากที่สุด โดยรองรับมากกว่า 1,000 แบบ จากเครือข่ายผู้ให้บริการขนาดใหญ่ได้กว่า 20 ราย ห้องวิจัยนี้สามารถจำลองสภาพการสื่อสารที่หลากหลายทั้งการใช้เสียง การใช้ข้อมูล การค้นหาอินเทอร์เน็ต รวมไปถึง VoWiFi, VoLTE, CA และ MIMO นอกจากนี้ ห้องวิจัยนี้ยังเป็นห้องวิจัยเดียวที่ระบบ Wi-Fi มีการผสานการทำงานของทั้ง CDMA และ GUTL เข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่เราได้ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ล่ะครับ
ภายในห้องขนาดใหญ่นี้ทดสอบด้านเครือข่ายทั้งหมดภายในห้องเดียว
Reliability Lab
ห้องนี้ต้องเรียกว่าเป็นห้องที่อาจจะโหดซักหน่อย เป็นห้องที่ใช้ทรมานสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยก็ว่าได้ ซึ่งเป็นห้องวิจัยที่ทดสอบความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ด้วยการจำลองสถานการณ์การใช้งานต่างๆ เพื่อปรับปรุงความทนทานของสมาร์ทโฟนหัวเว่ย ห้องวิจัยนี้สามารถทดสอบระดับความล้าของสมาร์ทโฟน ความคงทนของสมาร์ทโฟน ระดับความทนทานของส่วนประกอบต่างๆ ในสมาร์ทโฟน ความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน ความทนทานต่ออุณหภูมิที่ร้อนจัด รวมทั้งการกระจายความร้อน
ส่วนหนึ่งของขั้นตอนต่างๆ ในการเทสต์
ทดสอบแรงกดทับ
ทดสอบการชาร์จ
ทดสอบการทำเครื่องตกกระแทก
ทดสอบการบิดงอของตัวเครื่อง
ทดสอบการสัมผัสหน้าจอ
ห้องวิจัยความคงทนของผลิตภัณฑ์สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์โดยการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่เทียบเท่าการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่า 1 ปี ซึ่งขั้นตอนการทดสอบต่างๆ จะทำในขั้นต่ำเป็นหลักล้านครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การทดสอบการตกนั้นจะจำลองการตกหล่นของสมาร์ทโฟนในระดับความสูงและสถานการณ์ต่างๆ ระดับความทนทานต่อความชื้นของสมาร์ทโฟนหัวเว่ยอยู่ในระดับ IPX2 คือทนทานต่อละอองฝน ละอองน้ำจากการสาดหรือหกใส่ หรือของเหลวในลักษณะเทียบเท่า ส่วนระดับความทนทานต่อทรายและฝุ่นนั้นจะอยู่ที่ระดับ 5 หรือ 6 คือป้องกันอุปกรณ์จากฝุ่นที่เกาะตัวหรือฝุ่นทรายที่อาจจะปลิวมากระทบสมาร์ทโฟน หัวเว่ยยังทดสอบความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือนได้ในห้องวิจัยนี้ ซึ่งครอบคลุมถึงการสั่นสะเทือนระดับต่ำในชีวิตประจำวัน ทั้งการใช้งานในยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ เช่น รถยนต์หรือจักรยาน รวมถึงแรงสั่นสะเทือนระหว่างการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
นอกจากนี้ ห้องวิจัยนี้ยังสามารถทำการทดสอบการใช้สมาร์ทโฟนนำทางบนยานพาหนะหรือสถานที่ที่มีการสั่นไหวรุนแรงเป็นเวลาขั้นต่ำ 3 ชั่วโมงด้วย รวมไปถึงจำลองสภาพแวดล้อมที่ระดับน้ำทะเลหรือริมชายหาดเพื่อศึกษาการใช้งาน อีกทั้งยังจำลองอุณหภูมิสูง–ต่ำ หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน (ทดสอบมากกว่า 240 ชั่วโมง) รวมทั้งสภาพเปียกหรือชื้น ซึ่งการทดสอบต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานต่างๆ ของทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศอื่นๆ โดยส่วนใหญ่
Antenna Test Lab
ห้องวิจัยนี้สามารถทำการศึกษาหรือทดลองเพื่อปรับปรุงคุณภาพของการสื่อสารทางโทรศัพท์ การเชื่อมต่อข้อมูลที่รวดเร็วและการใช้ GPS ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้ใช้ โดยห้องวิจัยเสาสัญญาณนี้ ประกอบด้วย
- ห้องทดสอบที่ไร้การสะท้อนของคลื่นไมโครเวฟ
- ห้องทดสอบการสะท้อนกลับของคลื่น
- ห้องทดสอบที่มีความแม่นยำสูงสุด
Audio Lab
ปิดท้ายกันที่ห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ย ซึ่งมีอุปกรณ์สำหรับพัฒนาอุปกรณ์ด้านเสียง วิจัยอัลกอริทึม และตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์เสียงกว่า 200 ชิ้น ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับฟังเสียงที่ดีที่สุดจากสมาร์ทโฟน โดยห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ยเป็นห้องวิจัยด้านเสียงแห่งเดียวในประเทศจีนที่สามารถทำการทดสอบต่างๆ ตามเกณฑ์ของกลุ่ม 3GPP, Vodafone และมาตรฐานสากลอื่นๆ
ห้องวิจัยนี้ช่วยให้หัวเว่ยสามารถทดสอบอุปกรณ์ก่อนวางจำหน่ายร่วมกับผู้ให้บริการชั้นนำอย่าง AT&T, Vodafone, Verizon และอื่นๆ ได้ และเป็นห้องวิจัยในประเทศจีนแรกที่ผ่านเกณฑ์การลดเสียงรบกวน 3PASS noise reduction test system อันเป็นมาตรฐานล่าสุดของสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมแห่งยุโรป (ETSI) เนื่องจากยังไม่มีห้องวิจัยอื่นใดที่ได้รับการรับรองนี้เพิ่มเติมในปัจจุบัน จึงอาจกล่าวได้ว่าห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ยเป็นห้องวิจัยที่มีระบบทดสอบการลดเสียงเสียงรบกวนที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
ในการทดสอบในขั้นตอนนี้จะมีอยู่ 2 ห้องซึ่งสำหรับเทสต์ไมค์ และเทสต์ลำโพง
ทั้งหมดนี้ก็เป็นขั้นตอนทดสอบต่างๆ ในห้องแล็บซึ่งมีการทดสอบกันหลายขั้นตอนก่อนที่จะมาเป็นสมาร์ทโฟนที่ผลิตออกมาวางจำหน่ายและให้ได้ใช้งานในปัจจุบัน จากขั้นตอนต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่ากว่าจะมาเป็นสมาร์ทโฟนแต่ละเครื่องนั้นผ่านมาหลายขั้นตอนกว่าจะมาเป็นสมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพที่ใช้งานกันครับ
Product Line
นอกจากในส่วนของ Test Lab ที่ได้ไปชมขั้นตอนต่างๆ ในการทดสอบมา ยังมีในส่วนของ Product Line ซึ่งทางหัวเว่ยได้พาไปชมไลน์การผลิตมาด้วย แต่ในส่วนของไลน์การผลิตไม่สามารถบันทึกภาพใดๆ มาได้ โดยการผลิตจะผลิตตั้งแต่ประกอบชิปต่างๆ เข้าไปที่บอร์ดจากนั้นผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งใช้ทั้งแขนกลจากหุ่นยนต์ และมีในส่วนของคนที่เข้าร่วมทำงานด้วยในขั้นตอนท้ายๆ ซึ่งจะเป็นส่วนของการทดสอบการทำงานต่างๆ ของตัวเครื่อง เช่นการชาร์จแบตเตอรี่ การทัช การทดสอบฟังเสียง เป็นต้น เรียกได้ว่ามีการทดสอบอย่างละเอียดเลยครับ โดยการผลิตในขั้นตอนนี้จะมีหลายไลน์การผลิต และการผลิตสมาร์ทโฟน 1 เครื่อง จะอยู่ในไลน์ผลิตเดียวทั้งหมดจนถึงการแพ็กลงกล่องเลยล่ะครับ
สุดท้ายนี้ต้องขอบคุณทางหัวเว่ยที่ได้เชิญให้ไปสำนักงานที่ประเทศจีนไว้ ณ ที่นี่ ด้วยครับ ซึ่งทำให้ได้รับความรู้ และประสบกาณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยทราบมาก่อนแบบเอ็กซ์คลูซีฟจริงๆ
เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง