How To
“แอดมินเพจ” ต้องรู้! ปกป้องเพจให้ปลอดภัยด้วยเคล็ดลับจาก Facebook
ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 2.38 พันล้านคนต่อเดือน ทำให้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่มีความสำคัญต่อธุรกิจในระดับท้องถิ่นทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และยังช่วยสร้างชุมชนที่เปิดโอกาสให้ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความสนใจและประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันอีกด้วย
การใช้งานเพจ Facebook ทำให้ธุรกิจ ครีเอเตอร์ และชุมชนในประเทศไทยได้ไปอยู่ในโลกออนไลน์ เพื่อแสดงสินค้าและเป้าหมายในธุรกิจ และสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา
หากพิจารณาถึงความสามารถของเพจ Facebook ในการเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้คนได้กว้างมากขึ้น การดูแลปกป้องเพจโดยผู้ดูแล (administrators) จากผู้ประสงค์ร้ายที่อาจพยายามเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ของพวกเขาเพื่อหาผลประโยชน์ทางด้านการเงินหรือหลอกลวงลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ผลการศึกษาที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากในประเทศไทยยังขาดความมั่นใจด้านทักษะและความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 16 ของผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลขั้นสูงหรือในระดับเชี่ยวชาญ ถึงแม้พวกเขาจะตระหนักถึงความสำคัญของการมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลก็ตาม
Facebook มุ่งมั่นที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการเชื่อมต่อสำหรับทุกคน ซึ่งนั่นรวมถึงเพจต่างๆ และผู้ติดตามเพจนั้นๆ การปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานคือเป้าหมายสูงสุดของ Facebook ฟีเจอร์ นโยบาย รวมถึงเครื่องมือต่างๆ จึงมีหน้าที่ช่วยผู้คนในการดูแลความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวและบัญชีผู้ใช้ของพวกเขาจากการคุกคามของผู้ประสงค์ร้าย ซึ่ง Facebook แนะนำเคล็ดลับ 4 ข้อในการป้องกันเพจ Facebook จากภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ ประกอบด้วย
1.ทำความเข้าใจบทบาทของเพจ
เพจถูกออกแบบขึ้นเพื่อให้เข้าถึงและจัดการได้โดยผู้ใช้งานหลายคน ในบทบาทที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับการดำเนินการของร้านค้าทั่วไป ซึ่งการบริหารจัดการบทบาทของทีมทำให้เจ้าของธุรกิจและผู้ดูแลเพจสามารถควบคุมข้อมูลที่ถูกแชร์และลดภัยคุกคามต่อเพจได้ หากบัญชีส่วนตัวที่เชื่อมต่อกับเพจไม่ปลอดภัย
เจ้าของธุรกิจควรจะลงทะเบียนเป็นผู้ดูแลเพจ Facebook ของพวกเขาเสมอ เพื่อควบคุมความสามารถในการเข้าถึงเพจ นอกจากนี้ ผู้ดูแลยังสามารถกำหนดบทบาทของผู้อื่นได้ โดยพิจารณาจากระดับที่จำเป็นในการเข้าถึงเพจ เพื่อจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทในการจัดการเพจ | ผู้ดูแล(admin) | ผู้แก้ไข(editor) | ผู้ควบคุม(moderator) | ผู้ลงโฆษณา(advertiser) | นักวิเคราะห์(analyst) |
จัดการบทบาทและการตั้งค่าของเพจ | ✔ | ||||
แก้ไขเพจและเพิ่มแอพ | ✔ | ✔ | |||
สร้างและลบโพสต์ในนามของเพจ | ✔ | ✔ | |||
สามารถใช้งานแบบไลฟ์ในนามของเพจผ่านโทรศัพท์มือถือ | ✔ | ✔ | |||
ส่งข้อความในนามของเพจ | ✔ | ✔ | ✔ | ||
ตอบกลับและลบความคิดเห็นและโพสต์ในเพจ | ✔ | ✔ | ✔ | ||
ลบและแบนบุคคลออกจากเพจ | ✔ | ✔ | ✔ | ||
สร้างโฆษณา การโปรโมท หรือโพสต์ที่โปรโมท | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ | |
ดูข้อมูลเชิงลึก | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ |
ดูว่าใครเผยแพร่ในฐานะเพจ | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ | ✔ |
2.ปกป้องบัญชีผู้ใช้ส่วนตัว
ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจถึงความสำคัญของการปกป้องรายละเอียดต่างๆ บนช่องทางออนไลน์ แต่ก็ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยให้กับบัญชีผู้ใช้ โดยผลการศึกษา YouGov ที่จัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า ร้อยละ 28 ของผู้ใช้งาน Facebook ในประเทศไทยยอมรับว่าพวกเขาแบ่งปันรหัสผ่านกับผู้อื่น และร้อยละ 19 คิดว่ารหัสผ่านของพวกเขาไม่ปลอดภัย
เนื่องจากเพจ Facebook ถูกเชื่อมต่อกับบัญชีผู้ใช้ส่วนบุคคล ดังนั้น ผู้ที่เชื่อมต่อกับเพจทุกคนควรใช้ประโยชน์จากมาตรฐานความปลอดภัยและตั้งค่าการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น (two-factor authentication หรือ 2FA) เพื่อปกป้องบัญชีผู้ใช้ของพวกเขาจากการถูกขโมยข้อมูลโดยผู้ประสงค์ร้าย ซึ่งแม้ว่าการยืนยันตัวตนแบบสองชั้นจะมีประสิทธิภาพในการปกป้องบัญชีผู้ใช้งานในระดับสูง แต่ผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยจำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ และมีเพียงผู้ใช้จำนวนร้อยละ 30 ที่สามารถอธิบายวิธีการทำงานของการยืนยันตัวตนแบบสองชั้นได้อย่างถูกต้อง
3.รู้จักและหลีกเลี่ยงการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง
หนึ่งในวิธีการที่ผู้ประสงค์ร้ายใช้บ่อยและได้ผลมากที่สุดคือการเข้าถึงบัญชีผู้ใช้โซเชียลมีเดียผ่านการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบการปลอมแปลงการเข้าสู่ระบบของ Facebook ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพื่อยึดรายละเอียดในการเข้าถึงบัญชีผู้ใช้ของคุณ โดยผลการศึกษา YouGov ระบุว่าร้อยละ 17 ของผู้ใช้ Facebook ในประเทศไทยไม่รู้จักการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง
ในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงแบบฟิชชิ่ง ผู้ใช้ Facebook ควรหลีกเลี่ยงตอบรับคำขอเป็นเพื่อนจากคนที่ไม่รู้จัก ระวังซอฟท์แวร์อันตรายที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูล (เรียนรู้สัญญาณที่บ่งบอกว่าอุปกรณ์กำลังได้รับอันตราย และวิธีการลบซอฟท์แวร์ที่เป็นอันตรายได้ทางFacebook Help Center) และผู้ใช้ไม่ควรคลิกลิงค์ที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่ามันดูเหมือนจะถูกส่งมาจากเพื่อนของคุณหรือบริษัทที่รู้จัก นอกจากนี้Facebook จะไม่มีวันถามรหัสผ่านของคุณผ่านอีเมล์โดยเด็ดขาด และคุณควรรายงานลิงค์บน Facebook ที่ไม่น่าไว้วางใจด้วย
4.ตรวจสอบความปลอดภัยเป็นประจำ
เช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพ ผู้ดูแลเพจ Facebook ควรวิเคราะห์ความปลอดภัยของเพจอย่างสม่ำเสมอ
ในการรักษาความปลอดภัยให้กับเพจ Facebook ผู้ดูแลสามารถใช้ฟีเจอร์การตรวจสอบความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อตรวจสอบกิจกรรมและความปลอดภัยโดยรวมของบัญชีผู้ใช้ รวมถึงเพิ่มเติมการรักษาความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบประวัติการเข้าสู่ระบบเพื่อตามหาการเข้าสู่ระบบที่ไม่น่าไว้วางใจ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแอพและเกมที่ถูกติดตั้ง ลบสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจออกไป และตรวจสอบบันทึกกิจกรรมทั้งหมด
ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึงเพจ Facebook และเชื่อว่าบัญชีผู้ใช้ถูกแฮ็ค กรุณาเยี่ยมชม Facebook Help Center เพื่อส่งคำขอในการขอความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถเยี่ยมชม Safety Center เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบาย เครื่องมือ และข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ ของ Facebook ที่ช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับแพลตฟอร์มเพื่อผู้ใช้ทุกคนได้ที่ https://www.facebook.com/safety/