Apple News
กสทช. เผยผลสอบลูกค้า ”ไอโฟน 4 เอส” โดนไฟดูดเสียชีวิต เหตุใช้ที่ชาร์จปลอม
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) แถลงถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟดูดขณะชาร์จโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สภ.แกลง จ.ระยอง (อ่านข่าวเก่า) และสำนักงาน กสทช. มีหนังสือถึง สภ. แกลง ขอให้ส่งเครื่องโทรศัพท์ที่มีปัญหามาให้ตรวจสอบตามพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม 2498 นั้นว่า ผลการตรวจสอบโดยบริษัทผู้เชี่ยวชาญและกสทช.พบอะแดปเตอร์หรือตัวชาร์จไฟทำงานบกพร่อง ทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรสัมผัสกับผู้เสียชีวิต
นายฐากรกล่าวว่า กสทช.ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหลังได้รับเครื่องโทรศัพท์ไอโฟน 4 เอส พร้อมอุปกรณ์ควบ จาก สภ. แกลง สำนักงาน กสทช. ร่วมกับผู้แทนของบริษัทแอปเปิล อิ๊งค์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท เอ็กซ์โพเนนท์ อิ๊งค์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตรวจสอบเครื่องโทรศัพท์ไอโฟน 4 เอส พร้อมอุปกรณ์ควบดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา การตรวจสอบพบว่าอะแดปเตอร์ หรือตัวชาร์จเจอร์ ที่เกิดเหตุไม่ใช่ของแท้และไม่ได้ผลิตโดย แอปเปิล อิ๊งค์ และพบว่า อะแดปเตอร์ ดังกล่าวมีการทำงานที่บกพร่อง โดยไม่มีการแยกสัญญาณไฟฟ้าระหว่างด้านอินพุท(input)และเอ๊าท์พุท(output) ทำให้กระแสไฟฟ้าจากด้านอินพุทสามารถผ่านออกไปด้านเอ๊าท์พุท ได้โดยง่าย
สำหรับสายเคเบิ้ล (Cable) ที่เกิดเหตุตรวจสอบแล้วพบว่า ไม่ใช่ของแท้และไม่ได้ผลิตโดย แอปเปิล อิ๊งค์ เช่นกัน ตรวจพบว่ามีการทำงานบกพร่อง สายหุ้ม(Shield)ของสายเคเบิ้ลมีการแยกออกจากกันระหว่างด้าน 30 Pin (30 Pin Connector) กับด้าน ยูเอสบี ในส่วนของเครื่องโทรศัพท์ไอโฟน 4 เอส ที่เกิดเหตุนั้น ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นของแท้ผลิตในประเทศจีนตามการออกแบบของ แอปเปิล และเครื่องยังทำงานได้ปกติ และสำหรับสาเหตุของการเสียชีวิตอาจเกิดจากข้อบกพร่องของ
อะแดปเตอร์ และสายเคเบิ้ลทำงานบกพร่องทำให้เกิดการลัดวงจร ทำให้แรงดันไฟฟ้า 220 โวลท์ ถูกส่งผ่านและเกิดการสัมผัสกับร่างกายผู้เสียชีวิต
นายฐากร กล่าวว่า กรณีอุบัติเหตุดังกล่าวนั้นนับเป็นอุทาหรณ์ อันส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตผู้ใช้บริการโทรคมนาคมโดยตรง สำนักงาน กสทช. เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงขอย้ำเตือนผู้บริโภคให้เลือกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ไม่ควรเห็นแก่ของที่มีราคาถูม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากอุปกรณ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล จะผ่านการตรวจสอบคุณภาพการผลิต และหากผู้ใช้ปฏิบัติตามข้อแนะนำการใช้ จะทำให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
ที่มา – matichon