IT News
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Google Arts & Culture ร่วมเปิดตัว “ศิลปะไทยใกล้อีกนิด”
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Google Arts & Culture เชิญชวนทุกคนร่วมสำรวจ “ศิลปะไทยใกล้อีกนิด” และเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทยที่มีมายาวนานกว่า 70 ปีจากบ้านของคุณเอง นอกเหนือไปจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและแหล่งมรดกที่มีอยู่มากมายแล้ว Google Arts & Culture ยังร่วมกับหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอภาพผลงานศิลปะกว่า 500 ชิ้นจากฝีมือของศิลปินไทย 323 คนตลอดช่วงระยะเวลากว่า 7 ทศวรรษ โดยทำการถ่ายภาพด้วยกล้อง Art Camera ที่มีความละเอียดสูงเป็นพิเศษ
นิทรรศการ ศิลปะไทยใกล้อีกนิด เกิดจากความพยายามกว่า 3 ปีในการแปลงผลงานศิลปะออกมาเป็นภาพดิจิทัลระดับ Gigapixel ที่มีความละเอียดสูงเป็นพิเศษ ก่อนจะนำมาร้อยเรียงร่วมกับเรื่องราวจากผู้เชี่ยวชาญและศิลปินชั้นแนวหน้าของไทย ซึ่งนับเป็นโครงการแปลงภาพจิตรกรรมเป็นภาพดิจิทัลครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ Google Arts & Culture เคยทำในเอเชีย และเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งในโลก
การขยายให้เห็นรายละเอียดที่เล็กที่สุดของผลงานศิลปะไทยเป็นการเชื้อเชิญให้ทุกคนได้ชื่นชมความพิเศษของรากเหง้าและเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สะท้อนออกมา และเทคโนโลยีจากกล้อง Art Camera ก็ช่วยให้การสำรวจผิวสัมผัสที่ซับซ้อน รวมถึงวัสดุท้องถิ่นที่คาดไม่ถึง กลายเป็นเรื่องง่ายดาย
เพื่อเป็นการเชิดชูศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของไทย Google Arts & Culture จึงรวบรวมผลงานศิลปะกว่า 500 ชิ้นซึ่งแปลงเป็นรูปแบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีจากกล้อง ‘Art Camera’ ของ Google อีกทั้งยังมีผลงานจัดแสดงแบบอินเทอร์แอกทีฟ 21 รายการ โดยจะมีทัวร์ชมภาพวาดแบบลงรายละเอียดจำนวน 10 ชิ้น และงานศิลปะ 15 ชิ้นที่คุณสามารถนำกลับบ้านได้ด้วย Art Projector สำหรับเนื้อหาของนิทรรศการ “ศิลปะไทยใกล้อีกนิด” นั้นจะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
Google Arts & Culture ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับหลายสถาบันในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 รวมถึงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามอย่างต่อเนื่องของ Google ที่ต้องการถ่ายทอดให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของวัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นคอลเลกชันยุคสมัยใหม่จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ไปจนถึงความงดงามของพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ “วังหน้า“
อาจารย์ ดร. ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า “ด้วยพันธกิจของเราที่มุ่งมั่นสร้างแหล่งเรียนรู้ศิลปะที่ไม่ได้จำกัดแค่ในพื้นที่ ความร่วมมือในครั้งนี้ในการนำดิจิทัลมาสู่โลกศิลปะเปิดโอกาสให้เข้าถึงผลงานได้จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างประโยชน์ต่อการศึกษาศิลปะและขยายขอบเขตการเรียนรู้ให้ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งผลงานศิลปกรรมในคลังสะสมของมหาวิทยาลัยศิลปากรนี้สะท้อนให้เห็นถึงเส้นเวลาของประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ที่ส่งต่อสู่ศิลปะร่วมสมัยของไทยได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด”
อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2557 กล่าวว่า “ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่งานศิลปะของไทยจะได้มีโอกาสเผยแพร่สู่สายตาของผู้ที่สนใจทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ศิลปินและงานศิลปะเป็นที่รู้จักในระดับสากล รวมถึงความพิเศษที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เป็นหน่วยงานพันธมิตรแรกในไทยที่ได้นำ Google Art Camera มาบันทึกภาพด้วยตนเอง ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ของงานศิลปะเหล่านั้น ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทาง Google Arts & Culture ได้เห็นถึงความสำคัญของผลงานศิลปะของไทย รวมทั้งบทบาทของหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนนำไปสู่ความร่วมมือในครั้งนี้”
ไมค์ จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา Google ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผ่านทาง Google Arts & Culture ที่ออกแบบมาเพื่อนำเสนอเนื้อหาด้านศิลปวัฒนธรรมแบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้คนที่สนใจจากทั่วทุกมุมโลกได้เข้าถึงได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของเราที่มุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และข้อมูลที่เป็นประโยชน์และผู้คนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคภายใต้พันธกิจของเราที่ว่า “Leave no Thai Behind” และผมหวังว่าโครงการนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ ในประเทศไทยให้ความสนใจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมเพิ่มมากขึ้น”
Google Arts & Culture เป็นพันธมิตรด้านนวัตกรรมกับสถาบันทางวัฒนธรรมทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยได้รับสิทธิ์ในการรวบรวมผลงานทางศิลปวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์มากกว่า 2,500 แห่ง เพื่อเปิดประสบการณ์ให้ทุกคนได้ร่วมเพลิดเพลินไปกับการสำรวจศิลปะ ประวัติศาสตร์ และสิ่งมหัศจรรย์ของโลก นอกจากนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรม อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ภัณฑารักษ์จัดนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมให้ผู้เข้าชมมีส่วนร่วม ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ Google Arts & Culture เปิดให้ใช้บริการฟรีทั้งทางเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน (สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS และ Android)