หัวเว่ยเปิดตัว CPU ARM ที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในอุตสาหกรรม ซึ่งมีชื่อว่า “Kunpeng 920” สำหรับ CPU ตัวใหม่นี้ออกแบบมาเพื่อเสริมการพัฒนาการประมวลผลการใช้งาน ARM แท้ ซึ่งมีข้อมูลขนาดใหญ่และระบบสตอเรจแบบกระจายการทำงาน หัวเว่ยจะจับมือกับผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความก้าวหน้าให้กับอุตสาหกรรม ARM และเสริมสร้างระบบนิเวศแบบเปิด ประสานงานร่วมกันเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ยกระดับประสิทธิภาพการประมวลผลให้ก้าวไปอีกระดับ
“หัวเว่ยได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการประมวลผลมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า เราเชื่อว่า เมื่อสังคมอัจฉริยะเกิดขึ้น ตลาดการประมวลผลจะเห็นการเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันความหลากหลายของแอพพลิเคชั่นและดาต้ากำลังขับเคลื่อนให้เกิดความต้องการการประมวลผลแบบหลากหลาย หัวเว่ยได้จับมือกับอินเทลมาเป็นเวลานานแล้วเพื่อสร้างความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เราได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีร่วมกันมากมาย หัวเว่ยและอินเทลจะยังคงเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในระยะยาวและร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อไป” มร. วิลเลียม ซวี กรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่ด้านการตลาดกลยุทธ์ของหัวเว่ย กล่าว
“ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรม ARM ก็มองเห็นโอกาสการพัฒนาครั้งใหม่ ซีพียู Kunpeng 920 และเซิร์ฟเวอร์ TaiShan ซึ่งหัวเว่ยเพิ่งแนะนำสู่ตลาด ถูกนำไปใช้งานในแบบ ARM แท้ ที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ และสตอเรจแบบกระจายเป็นหลัก เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรทั่วโลกที่มีอุดมการณ์อันเปิดกว้าง ส่งเสริมความร่วมมือและแบ่งปันความสำเร็จร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศ ARM ขยายตลาดคอมพิวติ้ง และเปิดรับยุคแห่งการประมวลผลที่หลากหลาย”
CPU ARM ประสิทธิภาพสูงสุดในอุตสาหกรรม
Kunpeng 920 เป็น CPU เซิร์ฟเวอร์แบบ ARM ที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในอุตสาหกรรม โดยใช้โปรเซสเซอร์ขนาด 7 nm ที่ล้ำสมัย โดยหัวเว่ยได้ออกแบบขึ้นตามไลเซนซ์สถาปัตยกรรม ARMv8 ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของโปรเซสเซอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการปรับอัลกอริธึ่มด้านการคาดการณ์สาขาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพิ่มจำนวนหน่วยของ OP และปรับปรุงสถาปัตยกรรมระบบย่อยของหน่วยความจำให้ดียิ่งขึ้น จากการวัดผลในความถี่แบบเก่า เกณฑ์การเปรียบเทียบ SPECint ของ CPU Kunpeng 920 ทำคะแนนได้มากกว่า 930 คะแนน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 25 ในขณะเดียวกันก็มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีกว่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่คู่แข่งนำเสนอถึงร้อยละ 30 Kunpeng 920 จึงมีประสิทธิภาพการประมวลผลที่สูงขึ้นมากสำหรับดาต้าเซ็นเตอร์และยังช่วยลดการใช้พลังงานไปในตัว
Kunpeng 920 มี 64 คอร์ ที่ความถี่ 2.6 GHz ชิปเซ็ตนี้ประสาน DDR4 แบบ 8 Channel และแบนด์วิดท์ที่มีหน่วยความจำสูงกว่าข้อเสนอของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ราวร้อยละ 46 การรวมระบบจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญผ่านพอร์ต 100G RoCE สองพอร์ต ซีพียู Kunpeng 920 รองรับอินเตอร์เฟสPCIe Gen4 และ CCIX และมอบแบนด์วิดธ์รวม 640 Gbps นอกจากนี้ ความเร็วแบบซิงเกิลสล็อตยังเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่ามากกว่าของผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและตัวเร่งความเร็วต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
TaiShan เซิร์ฟเวอร์ ARM ของหัวเว่ย พร้อมประสิทธิภาพการทำงานที่ดีที่สุดในอุตสาหกรรม
ในวันเดียวกัน หัวเว่ยยังได้เปิดตัวชุดเซิร์ฟเวอร์ TaiShan ที่ขับเคลื่อนโดย Kunpeng 920 มี 3 รุ่นด้วยกัน คือ รุ่นที่เน้นการจัดเก็บ รุ่นสำหรับดาต้าความหนาแน่นสูง และรุ่นสุดท้ายคือเน้นผสานความสมดุลของข้อกำหนดทั้งสอง เซิร์ฟเวอร์ TaiShan สร้างขึ้นสำหรับข้อมูลขนาดใหญ่ สตอเรจแบบกระจาย และสถานการณ์การใช้งานแบบ ARM แท้ สถาปัตยกรรมแบบ ARM จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับรูปแบบการทำงานลักษณะนี้ด้วยข้อได้เปรียบที่มีหลายคอร์และประสิทธิภาพต่อวัตต์
TaiShan จะทำให้แพลตฟอร์มการประมวลผลมีประสิทธิภาพสูงและใช้พลังงานต่ำสำหรับองค์กร ตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์ที่มีข้อมูลขนาดใหญ่ เซิร์ฟเวอร์ TaiShan จะได้รับการปรับแต่งเพื่อให้เกิดการทำงานพร้อมๆ กัน และการกำหนดเวลาทรัพยากรเพื่อให้ประสิทธิภาพการประมวลผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 หัวเว่ย คลาวด์ซึ่งใช้เซิร์ฟเวอร์ TaiShan เป็นพื้นฐานจะให้บริการคลาวด์ที่ยืดหยุ่น บริการ Bare Metal และบริการโทรศัพท์บนคลาวด์
สร้างระบบนิเวศ ARM แบบเปิด ที่เน้นการร่วมมือ เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน
หัวเว่ยได้ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์พื้นฐานและแอพพลิเคชั่น โดยได้ทำงานร่วมกับองค์กรอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น Green Computing Consortium (GCC), Linaro และ Open Edge and HPC Initiative (OEHI) เพื่อสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่เปิดกว้างและทำงานร่วมกัน ควบคู่ไปกับพันธมิตรต่าง ๆ เช่น Hortonworks, Microsoft, Red Hat, SAP, SUSE, Ubuntu และ China Standard Software
ในด้านฮาร์ดแวร์ หัวเว่ยเป็นสมาชิกหลักของ Linaro ส่วนด้านซอฟต์แวร์พื้นฐาน หัวเว่ยเป็นสมาชิกแพลทตินั่มของ OpenStack และสมาชิกผู้ก่อตั้งของมูลนิธิ Cloud Native Computing (CNCF) ทางด้านแอพพลิเคชั่น หัวเว่ยได้เข้าร่วมกับ GCC ซึ่งได้เปิดตัวรายงาน Green Computing Consortium Server Technical Report พร้อมกับความพยายามอื่น ๆ ในการสร้างชุมชนคอมพิวติ้งโอเพนซอร์สสีเขียว นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเป็นสมาชิกของ OEHIด้วย
หัวเว่ยเชื่อว่าสังคมอัจฉริยะที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงถึงกัน มีการตรวจจับ และมีความอัจฉริยะกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว และเทรนด์ดังกล่าวก็จะเกิดรวดเร็วขึ้น การพัฒนาและการผนวกรวมของแอพพลิเคชั่นที่ใช้ ARM บนอุปกรณ์อัจฉริยะกำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการทำงานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์และคลาวด์ นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ด้านการประมวลผลแบบคลาวด์ก็กำลังขับเคลื่อนประเภทของข้อมูลให้มีความหลากหลาย ตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชันข้อมูลสำหรับขนาดใหญ่ สตอเรจแบบกระจาย และสถานการณ์การประมวลผลแบบ Edge บางลักษณะ จะมีข้อกำหนดด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่จำเพาะสำหรับการประมวลผลประสิทธิภาพสูงแบบหลายคอร์ ซึ่งในบริบทดังกล่าว ระบบ ARM มีความโดดเด่นด้วยข้อดีที่แตกต่างกันในด้านประสิทธิภาพและการใช้พลังงาน
ดังนั้น สำหรับมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มในอุตสาหกรรมและความต้องการด้านแอพพลิเคชัน ยุคใหม่ของการประมวลผลที่หลากหลายกำลังจะเกิดขึ้น ประเภทของข้อมูลและสถานการณ์ที่มีความหลากหลายกำลังผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพสถาปัตยกรรมคอมพิวติ้ง การรวมสถาปัตยกรรมการประมวลผลหลากหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุดจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น
“ด้วยชิปเซ็ต Kirin 980 หัวเว่ยได้นำสมาร์ทโฟนให้ก้าวไปสู่อีกระดับของความอัจฉริยะ ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ อาทิ หัวเว่ย คลาวด์ ที่ออกแบบบนพื้นฐานของ Ascend 310 ทำให้หัวเว่ยสามารถนำเทคโนโลยี AI แบบผนวกรวมมาใช้งานสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ได้” มร. วิลเลียม ซวี กล่าว “วันนี้ด้วย Kunpeng 920 เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคของการประมวลผลที่หลากหลาย โดยมีหลายคอร์และมีความแตกต่างกัน หัวเว่ยได้ลงทุนอย่างอดทนและจริงจังในการสร้างนวัตกรรมคอมพิวติ้ง เพื่อสร้างความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เราจะทำงานร่วมกับลูกค้าและคู่ค้าของเรา เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ”