IT News
หัวเว่ยจัดงาน Global Mobile Broadband Forum ครั้งที่ 13 ในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “5G นำความก้าวหน้า”
หัวเว่ยเปิดฉากการประชุม Global Mobile Broadband Forum (MBBF) ครั้งที่ 13 โดยนายเคน หู ประธานกรรมการบริหารแบบหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวสุนทรพจน์ในงานว่า “เทคโนโลยี 5G เติบโตอย่างรวดเร็ว ในเวลาเพียง 3 ปี เราเห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนด้านการติดตั้งเครือข่าย, การให้บริการลูกค้าและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ”
เขากล่าวเสริมว่า “เมื่อ 5G รุดหน้าอย่างรวดเร็ว เราควรภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่ผ่านมา แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่เราสามารถร่วมมือกันในการดึงศักยภาพของ 5G เพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุด เพื่อขยายไปสู่การบริการด้านต่างๆ เช่น คลาวด์และการพลิกโฉม ระบบ เราจะร่วมขับเคลื่อนทั้งการพัฒนา 5G, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการเติบโตของอุตสาหกรรมไอซีทีไปพร้อมกัน”
จากข้อมูลเดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 ผู้ให้บริการเครือข่ายมากกว่า 230 รายทั่วโลกได้เปิดตัวบริการ 5G เชิงพาณิชย์ โดยอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งสถานีฐาน 5G รวมกันมากกว่า 3 ล้านแห่ง และให้บริการสมาชิกมากกว่า 700 ล้านรายทั่วโลก สำหรับธุรกิจโทรคมนาคม ผู้ให้บริการเครือข่ายสร้างรายได้หลักของธุรกิจจากการให้บริการ แต่เมื่อเทคโนโลยี 5G แพร่หลายมากขึ้น การมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าด้วยพลังที่เหนือระดับของ 5G ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณการรับส่งวิดีโอความละเอียดสูงเติบโตอย่างรวดเร็ว แอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี 5G ความเร็วสูงที่มีค่าความหน่วงต่ำส่งผลให้ปริมาณการดูข้อมูลโดยเฉลี่ยต่อผู้ใช้ (DOU) เพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และเพิ่มอัตราเฉลี่ยค่าบริการต่อผู้ใช้งาน (ARPU) ขึ้น 20%-40% ส่งผลให้รายได้ด้านบริการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการเครือข่ายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในธุรกิจ B2B กลายเป็นกลไกสร้างการเติบโตของรายได้ของผู้ให้บริการเครือข่าย สร้างมูลค่ามหาศาลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น น้ำมันและก๊าซ การผลิต และการขนส่ง การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเหล่านี้กลายเป็นนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าทางธุรกิจอย่างมหาศาลให้กับผู้ให้บริการเครือข่าย ในปี พ.ศ. 2564 ผู้ให้บริการเครือข่ายของจีนสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่กว่า 3.4 พันล้านหยวน (ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ) จากโครงการ 5G เชิงอุตสาหกรรมมากกว่า 3,000 โครงการ ยิ่งไปกว่านั้น โครงการเหล่านี้ยังสร้างรายได้มากขึ้นอีก 10 เท่าจากการประยุกต์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและบริการด้านไอซีทีแบบครบวงจร
การใช้ 5G ในธุรกิจ B2B จะกลายเป็นกระแสรายได้ที่เติบโตเร็วที่สุดสำหรับผู้ให้บริการ 5G ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ใหม่ในอุตสาหกรรมบริการ, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ปูทางสู่โอกาสการเติบโตที่ไม่เคยมีมาก่อน “เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโต เราต้องลงมือทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ” นายเคน หู กล่าวย้ำ
พัฒนาเครือข่ายเพื่อประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการขยายความครอบคลุมแล้ว ควรปรับการพัฒนาเครือข่ายให้เข้ากับประสบการณ์ผู้ใช้แบบต่างๆ อย่างลงตัว เช่น ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศจีนปรับเครือข่ายให้สอดคล้องกับการใช้แพลตฟอร์ม TikTok และแพลตฟอร์มวิดีโอยอดนิยมอื่น ๆ โดยลดความหน่วงของระยะเวลาการตอบสนองลง 50% และลดการแสดงภาพค้างลง 90% เพิ่มประสบการณ์การรับชมวิดีโอที่ราบรื่นยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณการใช้ข้อมูลเพิ่มขึ้นสองเท่าและดึงดูดผู้ใช้บริการ 5G รายใหม่มากขึ้น
ขับเคลื่อนการพัฒนา 5.5G
ในการผลักดัน 5G ให้ก้าวไปอีกขั้น หัวเว่ยร่วมมือกับผู้ให้บริการและพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาฟีเจอร์สำคัญสี่ประการสำหรับ 5.5G ซึ่งจะเป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของ 5G ได้แก่ อัตราดาวน์ลิงค์ 10 Gbps, อัปลิงค์ 1 Gbps, รองรับการเชื่อมต่อ 100 พันล้านรายการและคลาวด์ Native Intelligence
“ผู้เล่นในอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันเพื่อกำหนดมาตรฐาน, เตรียมความพร้อมด้านคลื่นความถี่และฟูมฟักอีโคซิสเต็มไปด้วยกัน” นายเคน หู กล่าวเสริม
ขับเคลื่อนนวัตกรรมการบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุดของ 5G
เทคโนโลยี 5G ให้ความเร็วสูงพร้อมค่าความหน่วงต่ำ ผสานกันอย่างไร้รอยต่อกับคลาวด์และ AI เพื่อมอบบริการใหม่สำหรับผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ผู้ให้บริการสามารถมอบประสบการณ์อันน่าตื่นเต้นเฉพาะบุคคล เช่น Extended Reality (XR), การเล่นเกมบนคลาวด์และบริการโทรศัพท์ให้กับผู้บริโภค และมอบโซลูชันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลขององค์กรที่ครอบคลุมกว่าที่เคย มุ่งสู่การเปิดกระแสรายได้ใหม่โดยเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ให้บริการเครือข่ายให้รุดหน้าไปไกลกว่าการเชื่อมต่อ และมุ่งสู่บริการคลาวด์และการบูรณาการระบบเต็มรูปแบบ
การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมเป็นคลื่นลูกใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และ 5G เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและช่วยเปิดโอกาสใหม่ทั่วโลก ทุกฝ่ายในอีโคซิสเต็มไอซีทีต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันโอกาสเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด “ความร่วมมือที่แข็งแกร่งจะขับเคลื่อนการพัฒนาเครือข่าย 5G รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมโดยรวมให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด” นายเคน หู กล่าวสรุป
นำทรัพยากรด้านเครือข่ายมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อความสำเร็จของ 5G เชิงพาณิชย์
เจมส์ เฉิน ประธานฝ่ายขายกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายของหัวเว่ย (Huawei Carrier BG) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘ก้าวอย่างมั่นคงสู่ความสำเร็จของ 5G’ (Making Strides Towards 5G Success) ว่า “เราเห็นเทคโนโลยี 5G ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุดเราต้องเร่งการติดตั้งและใช้ประโยชน์จากทุกย่านความถี่, ทุกหน่วยความถี่, และทุกวัตต์ เรามุ่งนำ 5G จากแบรนด์ชั้นนำและเทคโนโลยีชั้นนำมาพัฒนาสู่ประสบการณ์ชั้นนำและธุรกิจชั้นนำ และเราจะสร้างความสำเร็จเชิงพาณิชย์ของ 5G ให้ได้”
เจมส์ เฉิน อธิบายถึงการใช้ 5G ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเครือข่าย 5G จะเร็วกว่า 4G ถึง 10 เท่า ให้ความเร็วมากกว่า 1 Gbps และผู้ใช้ 5G ยังใช้ข้อมูลได้มากกว่า 4G ถึงสองเท่า หรือมากกว่า 20 GB ต่อเดือน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายสามด้านด้วยกัน คือประสบการณ์ผู้ใช้, การเชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (IoT), และการเข้าสู่ยุคดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม
- สร้างรายได้จากการให้บริการประสบการณ์ผู้ใช้งานมากกว่าที่เคย เนื่องจากผู้ให้บริการเครือข่ายเปลี่ยนจากโมเดลธุรกิจที่อิงตามปริมาณการใช้งานเป็นหลัก เป็นการให้บริการเป็นหลัก โดยเสนอบริการ 5G ที่ปรับราคาตามปัจจัยอื่นเช่น ความเร็ว, ค่าความหน่วงต่ำและประสบการณ์การอัปลิงค์
- การเชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (IoT) ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งบริการ IoT จากผู้บริโภครายย่อยและอุตสาหกรรม ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสร้างการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ได้หนึ่งแสนล้านครั้ง
- ระหว่างการเข้าสู่ยุคดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรม 5G มอบบริการคุณภาพสูงและการเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพ เช่น ระบบเครือข่ายส่วนบุคคล (private line) และเครือข่ายที่ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายขยายธุรกิจสู่ตลาด B2B ด้วย การเติบโตของเทคโนโลยี 5G ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายเพิ่มบริการใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากการเชื่อมต่อ และเพิ่มแหล่งรายได้ใหม่
ในช่วงท้ายของงานประชุม MBBF บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บริษัท อินฟอร์เมชั่น แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวิร์คส จำกัด (มหาชน) และหัวเว่ย ยังได้ร่วมกันเปิดตัวสมุดปกขาวเกี่ยวกับเมือง 5G (5G City Whitepaper) ฉบับแรก รวมถึงได้เปิดตัวเมือง 5G อัจฉริยะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้ภายในงานการประชุม Global Mobile Broadband Forum (MBBF) ครั้งที่ 13 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ONDE) ได้เป็นผู้นำในการพัฒนาสมุดปกขาวเกี่ยวกับเมือง 5G โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเตรียมแนวทางการสร้างเมือง 5G อย่างมีประสิทธิภาพและผสานเทคโนโลยี 5G เข้ากับชีวิตของผู้คนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ตอบสนองนโยบายของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ ภายใต้นโยบายนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited – NT), หัวเว่ยและพันธมิตรในอุตสาหกรรมได้ริเริ่มสร้างเมือง 5G แห่งแรกในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การติดตั้งเทคโนโลยี 5G จะทำให้เขตเมืองดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้บริการที่ชาญฉลาดหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจะช่วยพัฒนาเรื่องการจัดการจราจรและการเข้าถึงข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาความปลอดภัยในเมือง และพัฒนาคุณภาพของสภาพอากาศด้วยการติดตามปริมาณของฝุ่น PM 2.5 แบบเรียลไทม์
หัวเว่ย ร่วมกับ สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) และ Global TD-LTE Initiative (GTI) เปิดฉาก Global Mobile Broadband Forum 2022 รวบรวมผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สาย ผู้นำอุตสาหกรรมแนวดิ่ง และพันธมิตรอีโคซิสเต็มจากทั่วโลกร่วมหารือกลยุทธ์ผลักดัน 5G ให้ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์และถกประเด็นในหัวข้ออื่น ๆ เช่น การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยีอัจฉริยะและวิวัฒนาการ 5G ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://www.huawei.com/en/events/mbbf2022