IT News
HUAWEI ร่วมกับพันธมิตร 70 ราย เสนอกรอบแนวคิดองค์รวม 5 ประการ ขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์รวมบุคลากรด้านดิจิทัลของอาเซียน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
หัวเว่ย และพันธมิตร ผนึกกำลังเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มบุคลากรดิจิทัลอย่างยั่งยืนในประเทศไทย พร้อมเปิดการแข่งขัน ICT Competition 2022
ในภาพ – การประกาศความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยว่าที่ร้อยเอกมนตรี มั่นคง (ที่ 4 จากซ้าย) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล (ที่ 3 จากซ้าย) รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายอาเบล เติ้ง (ที่ 5 จากซ้าย) ประธานกรรมการ ฝ่ายเครือข่ายธุรกิจผู้ให้บริการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นายเดวิด หลี่ (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด นายเอดิสัน สวี (ซ้ายสุด) คณะกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และนายนิธิภัทร ศรีธัญญา (ขวาสุด) ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในการร่วมหารือเพื่อนำแนวทางมาพัฒนาบุคลากรไอซีที ต่อยอดสู่แผนแม่บทประเทศ ภายในงาน Thailand Talent Transformation Symposium พร้อมเปิดตัวโครงการ ‘ICT Competition 2022’
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันอุดมศึกษาและบรรดาพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศ ร่วมหารือเพื่อนำแนวทางมาพัฒนาบุคลากรไอซีที ต่อยอดสู่แผนแม่บทประเทศ ภายในงาน Thailand Talent Transformation Symposium พร้อมเปิดตัวโครงการบ่มเพาะด้านดิจิทัลที่หลากหลายและการแข่งขันสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยกว่า 200 คน ใน ‘ICT Competition 2022’ เพื่อยกระดับอีโคซิสเต็มด้านบุคลากรดิจิทัลในประเทศไทย
ว่าที่ร้อยเอกมนตรี มั่นคง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวเปิดโครงการความร่วมมือ Thailand Talent Transformation Symposium ว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลระหว่างชุมชนเมืองและชุมชนชนบท จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหัวเว่ย ประเทศไทย ในการจัดทำและเผยแพร่สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand National Digital Talent Development)” ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล อันเกิดจากการเร่งขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลแบบก้าวกระโดด ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยภายในปี พ.ศ. 2570 จะมีอัตราการเติบโตของจีดีพีถึง 30% ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการพัฒนาบุคลากรไอซีทีให้แก่ประเทศ สอดคล้องกับนโยบายแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565 – 2570) ที่มีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรทุกกลุ่มมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่จัดโครงการICT Competition 2022 นี้ขึ้น เพื่อช่วยบ่มเพาะบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถ และเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างอีโคซิสเต็มในประเทศไทยให้ครอบคลุม สมบูรณ์และยั่งยืน”
ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลส่งผลให้เกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานทักษะดิจิทัล โดยสมุดปกขาวหรือรายงานเชิงลึกระบุว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับการขาดแคลนบุคลากรดิจิทัลถึงกว่า 500,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะบุคลากรที่มีทักษะด้าน 5G, IoT, และคลาวด์ ในระดับ 3 (ระดับกลาง) และในระดับ 4 (ระดับสูง) ทางกระทรวงการอุดมศึกษาฯ จึงมุ่งให้ความสำคัญในการเร่งพัฒนาทักษะและเสริมองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่ให้มีคุณภาพและมีทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยมีแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรดิจิทัลสำหรับสถาบันการศึกษาไทย ส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษาทั้งด้านหลักสูตรและการปฏิบัติจริง สร้างบุคลากรดิจิทัลให้เพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ทั้งนี้ หัวเว่ยถือเป็นกำลังสำคัญจากภาคเอกชนในการสนับสนุนการผลิตบุคลากรไอซีที พร้อมมีส่วนช่วยยกระดับนโยบายการพัฒนาบุคลากรไอซีทีสู่แผนแม่บทประเทศ และโครงการการบ่มเพาะบุคลากร ICT Competition 2022 ถือเป็นอีกหนึ่งในโครงการที่ตอบโจทย์การผลักดัน ต่อยอดและเสริมสร้างศักยภาพให้กับบุคลากรไทย”
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการ ฝ่ายเครือข่ายธุรกิจผู้ให้บริการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “บุคลากรดิจิทัลนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักสำคัญที่หัวเว่ยลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยวางกรอบและแนวทางในการปฏิบัติสามด้าน เพื่อบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถในระดับสูง โดยในระดับสูงสุดนั้น หัวเว่ย อาเซียน อะคาเดมี (Huawei ASEAN Academy) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2562 นั้นได้ฝึกอบรมบุคลากรไอซีทีไปแล้วกว่า 60,000 คน และธุรกิจ SMEs ไปแล้ว 2,600 ราย เพื่อสร้างผลกระทบในเชิงลึกและยิ่งใหญ่ขึ้น หัวเว่ยจึงได้ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เผยแพร่สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย” พร้อมระบุความท้าทายหลัก 11 ด้าน และข้อแนะนำด้านนโยบาย 5 ประการ โดยหัวเว่ยมุ่งที่ 3 แนวทางหลักในการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย ความเป็นผู้นำ ทักษะ และองค์ความรู้”
“สำหรับด้านองค์ความรู้นั้น หัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 37 แห่งของประเทศไทย โดยไทยเป็นประเทศแรกที่ดำเนินโครงการ Seeds for the Future อันถือเป็นโครงการเรือธงเพื่อสังคมของหัวเว่ย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 โดยมีนักเรียนไทยที่มีความสามารถเข้าร่วมแล้วกว่า 220 คน และภายใต้อีโคซิสเต็มนี้ โครงการ ICT Competition โครงการเรือธงระดับโลกของหัวเว่ยที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปี พ.ศ. 2558 ได้สร้างประโยชน์ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยไปแล้วกว่า 1,000 คน และในปีนี้ เราตั้งเป้าที่จะเสริมสร้างความรู้ด้านไอซีทีที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ให้แก่เยาวชนที่มีความรู้ความสามารถอีกกว่า 200 คน ตอกย้ำพันธกิจของหัวเว่ยที่ว่า เติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย (Grow in Thailand, Contribute to Thailand)” นายอาเบลกล่าว
นอกจากนี้ สมุดปกขาว “การพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย” ที่จัดทำร่วมกับ โรแลนด์ เบอร์เกอร์ (Roland Berger) บริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านการจัดการระดับโลก ได้ระบุถึงกรอบแนวคิดองค์รวม 5 ประการ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านบุคลากรไอซีที โดยจะมาจากการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย 1) การจัดทำนโยบาย การปรับมาตรฐาน และการติดตามการดำเนินการ 2) การพัฒนาทักษะ 3) การสร้างอาชีพและการหางานเพื่อรองรับบุคลากร 4) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 5) การระดมทุนและสนับสนุนเงินทุน
สำหรับโครงการICT Competition 2022 เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านไอซีที การฝึกทักษะในการปฏิบัติจริง และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทั่วโลก ในการสร้างนวัตกรรมผ่านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยยกระดับการศึกษาและสร้างทักษะบุคลากรรุ่นใหม่ โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2565 จนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะจากการแข่งขันจะได้รับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท
หัวเว่ย ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ริเริ่มโครงการหัวเว่ย ไอซีที อะคาเดมี (ประเทศไทย) และได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในประเทศอีก 37 แห่ง ในการสร้างบุคลากรไอซีทีในประเทศไปแล้วกว่า 26,000 คน และตั้งเป้าที่จะฝึกอบรมบุคลากรดิจิทัลสัญชาติไทยเพิ่มขึ้นอีกกว่า 10,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2566 รวมทั้งจะสามารถร่างข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในสมุดปกขาวอันจะนำไปสู่การริเริ่มการสร้างบุคลากรที่มีความหลากหลายด้านทักษะในอีโคซิสเต็ม และจะเดินกลยุทธ์ในการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างเวทีที่เปิดกว้างและสร้างโอกาสใหม่ ๆ อย่างมั่นคง ซึ่งท้ายที่สุดจะสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่ทุกคน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อสร้างโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์แบบ