ข่าวประชาสัมพันธ์
NIA และ Huawei ร่วมปลุกปั้น 4 ผู้ประกอบการ โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G
ในวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์ของสตาร์ทอัพทั่วโลกเกิดการชะลอตัวในด้านการระดมทุน ดังนั้นสตาร์ทอัพควรปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี เรียนรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ อาทิ 5G, Cloud, IoT เข้ามาปรับใช้เพื่อความอยู่รอดและสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโตต่อไป
การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้องค์กรธุรกิจได้ อีกทั้งยังช่วยให้เกิด ความสะดวก รวดเร็ว ง่ายต่อการบริหารจัดการ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง เรียกได้ว่าเป็นอาวุธที่สำคัญ ในการทำธุรกิจในยุคนี้ ใครใช้เทคโนโลยีเป็น หรือเข้าถึงเทคโนโลยีได้มาก คนนั้นได้เปรียบแน่นอน เราจึงเห็นผู้ประกอบการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพหลายรายต่างเร่งส่งเสริม สนับสนุนให้ธุรกิจหันมาใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกิจได้ผนึกกับพันธมิตร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดหาโซลูชันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ชั้นนำระดับโลก เดินหน้าเพิ่มองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีเชิงลึก ภายใต้โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยนายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมNIAกล่าวถึง ความร่วมมือระหว่าง NIA กับ Huawei Thailand มุ่งส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นและผู้ประกอบการนวัตกรรมในระยะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้านเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G (Pre-incubator) และผลักดันเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะวิสาหกิจเริ่มต้น (Incubation program) ผ่านการอบรมเรียนรู้ในเรื่อง 5G Network, Cloud Service & IoT Synergy Program รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ NIA เป็นการพัฒนาขีดความสามารถของสตาร์ทอัพให้สามารถขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ย้ำชัด หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลขึ้นอยู่กับการวางรากฐานในด้านการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล หัวเว่ย ประเทศไทยได้สนับสนุนผ่านการบ่มเพาะทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรไทย ผ่านศูนย์ Huawei ASEAN Academy และได้ฝึกอบรมบุคลากรไปแล้วกว่า 16,500 คน ทั้งในธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เสริมความเข้าใจด้านเทคโนโลยีและปรับเทคโนโลยีเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาธุรกิจต่อไป
วันนี้จะพาไปรู้จักกับ 4 ผู้ประกอบการนวัตกรรมและสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมในโครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G ที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความพร้อมทางด้านแผนงานธุรกิจ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี 5G ที่พร้อมไปต่อยอดได้จริง เริ่มที่ คุณณัฐวีร์ พงศ์อาจารย์ CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท เอ็นอาร์จีแทรค จำกัด เจ้าของผลงาน Smart Negative Pressure Room System ชุดระบบสร้างห้องแรงดันลบ และควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT สำหรับการทำ home isolation ด้วยมาตรฐานเดียวกับห้องแรงดันลบในโรงพยาบาล เพื่อสุขภาพของผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของคนอื่นในบ้าน เพื่อนบ้าน และยังช่วยแพทย์ในการออนไลน์ติดตามอาการผู้ป่วยหลายรายได้ในเวลาเดียวกัน
คุณบงการ พยัฆวิเชียร Co-Founder บริษัท โปร-ทอยส์ จำกัด เจ้าของผลงาน Virtual PG Platform พนักงานส่งเสริมการขายเสมือนจริง ทำงานผ่านจอ Interactive 5G Network โดยพนักงานหนึ่งคนสามารถทำงานได้ 5 – 7 สาขา เลือกทำงานที่บริษัทหรือ work from home ได้ ลูกค้าจะสอบถามพนักงานหรือพนักงานกล่าวทักทายลูกค้าได้ ก่อนที่จะส่งข้อมูลหรือโปรโมชั่นไปยังลูกค้า ช่วยสร้างโอกาสในการขายและสร้างประสบการณ์แบบไร้ข้อจำกัด
คุณอภิศักดิ์ อาภาแจ่มจรัส CEO บริษัท บีเอ็นเค มิวสิคมอล จำกัด เจ้าของผลงาน Music Gamification แพลทฟอร์มสำหรับการเรียนการสอนดนตรี ช่วยให้ครูสอนดนตรีได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพ ผู้เรียนสนุกกับการเรียนดนตรี และผู้ปกครองติดตามพัฒนาการของเด็กๆ ได้ชัดเจนขึ้น
คุณตฤณสิษฐ์ จารุรังสีวัฒน์ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท เพ็ท พอว์ จำกัด เจ้าของผลงาน พอว์พลัส (Paw+) ที่เป็นระบบ Telemedicine สำหรับโรงพยาบาลสัตว์ ช่วยให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเข้าถึงบริการการรักษาได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และช่วยลดระยะเวลาการทำงาน และลดความเสี่ยงในการสัมผัสโดยตรง ให้กับบุคลากรการแพทย์
โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นเทคโนโลยีเชิงลึกด้าน 5G เป็นหนึ่งโครงการของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยศูนย์วิสาหกิจประเทศไทย หรือ Startup Thailand กับบทบาทในการพัฒนาและส่งเสริมระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้นของไทย ที่จะเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกและสร้างเครือข่ายวิสาหกิจเริ่มต้นเชิงลึกเพื่อเตรียมรองรับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต