ข่าวประชาสัมพันธ์
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อัพเกรดเมืองพัทยาเป็น SMART CITY แห่งแรกของไทย พร้อมปรับภูมิทัศน์ถนนเลียบหาดเมืองพัทยา
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดทริปพิเศษพาบล็อกเกอร์ทั้งสายไอที และท่องเที่ยวไปร่วมรับฟังโครงการต่างๆ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ SMART GRID ที่เมืองพัทยา ด้วยโครงการสร้างเคเบิ้ลใต้ดินระบบสายส่ง และปรับปรุงระบบจำหน่าย เป็นเคเบิ้ลใต้ดินพร้อมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับภูมิทัศน์ถนนเลียบหาดเมืองพัทยา ตลอดแนวพัทยาเหนือ กลาง ใต้ ทำให้เมืองพัทยาขณะนี้มีทัศนียภาพสวยงามและส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เทียบเท่าเมืองท่องเที่ยวขั้นนำของโลก ซึ่งแผนงานภาพรวมระยะที่ 1 ครอบคลุม 4 เมืองใหญ่ คือ นครราชสีมา, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และเมืองพัทยา
ทำความรู้จัก SMART GRID คืออะไร?
SMART GRID เป็นการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้มีความฉลาดมากขึ้น เนื่องจากแหล่งพลังงาน ณ ปัจจุบันถึงอนาคต จะมาจากแหล่งพลังงานทดแทนมากขึ้น ไม่ว่าจะพลังงานจากแสงอาทิตย์ และ พลังงาน ลม ซึ่งพลังงานแต่ละแหล่งจะมี ศักยภาพที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้แตกต่างกันออกไป ทําให้ระบบผลิตไฟฟ้าด้วย พลังงานทดแทนมีกําลังผลิตไม่มากและมักจะถูกติดตั้งอยู่อย่างกระจายตัวโดยจะจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้ามาในระบบได้หลายทิศทาง
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงต้องมีการนําเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารระบบเซ็นเซอร์ ระบบเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีทางด้านการควบคุมอัติโนมัติ เข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบไฟฟ้าเพื่อทําให้ระบบไฟฟ้า สามารถรับรู้ข้อมูลสถานะต่าง ๆ ในระบบได้มากขึ้น และรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแทสั่งผลิตไฟฟ้า จากพลังงานสะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป จึงจําเป็นต้องมีการปรับปรุงทั้งระบบและอุปกรณ์ในส่วนที่เชื่อมต่อกับผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย การพัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ที่เป็นส่วนสําคัญในโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ SMART GRID ซึ่งจะให้ประโยชน์โดยตรงต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งระดับครัวเรือนและในระดับอุตสาหกรรม
Smart Meter ศูนย์รวมข้อมูลอัจฉริยะพลังงานไฟฟ้า
Smart Meter เป็นมาตรวัดพลังงานไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นระบบควบคุมที่ศูนย์ข้อมูลของการไฟฟ้าผ่านอุปกรณ์นี้ โดยไม่จําเป็นต้องส่งพนักงาน มาเพื่ออ่านหน่วยค่าไฟฟ้าเดือนละครั้งแบบในปัจจุบัน ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลการใช้ ไฟฟ้าได้แบบ Real Time, สามารถรับรู้สถานะของปริมาณการใช้ไฟฟ้าและคํานวณค่าไฟฟ้า ณ เวลานั้นๆ ได้ สามารถควบคุม ตรวจสอบปัญหาของอุปกรณ์จากศูนย์ข้อมูลได้ รับรู้ข้อมูล หรือมีการแจ้งเตือน เหตุกระแสไฟฟ้าข้องได้ รู้ได้ว่าปัญหาเกิดจากสาเหตุใด ภายในบ้าน หรือเกิดจากภายนอกอาคารบ้านเรือน สามารถแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดและรวดเร็ว
ในทริปนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้เดินทางด้วย PURE e-Bus ซึ่งเป็นรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า 100% ไม่สร้างมลพิษ การชาร์จ 1 ครั้ง เมื่อชาร์จเต็มจะสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร โดยแบตเตอรี่ที่กำเนิดไฟฟ้าจะอยู่ด้านใต้รถความยาวตลอดทั้งคัน และได้ยินว่าเป็นทริปแรกเลยที่ให้บุคคลภายนอกได้ใช้รถไฟฟ้านี้เพื่อเดินทางทั้งไปและกลับด้วยรถไฟฟ้า 100% เผื่อใครสงสัยว่านั่งรถไฟฟ้าแล้วความเร็วจะเป็นยังไงบ้างก็ต้องบอกเลยครับว่าเหมือนนั่งรถยนต์ปกติเลยครับ
ทำความรู้จัก PEA VOLTA Platform ของสถานีอัดประจุไฟฟ้า
จุดแรกที่ไปแวะกันในทริปนี้คือสถานีอัดประจุไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่พัทยา โดยใช้ระบบ PEA VOLTA Platform เตรียมพร้อมสำหรับรถไฟฟ้าที่จะนำมาใช้ในอนาคตมากขึ้น ปัจจุบันนี้ก็มีใช้กันอยู่แล้วนะครับแต่อาจจะยังไม่มากเท่าไหร่ โดยระบบโครงข่ายข้อมูลสถานีอัดประจุไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ประกอบด้วยระบบ และช่องทางการสื่อสารข้อมูลระหว่างเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (PEA VOLTA) กับฐานข้อมูลกลางของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และระบบบริหารจัดการข้อมูล (Mobile Application & Web Service)
หัวชาร์จที่สถานีอัดประจุไฟฟ้าจะเป็นแบบ Multi Standard จะมี 3 หัวชาร์จด้วยกันครับ เป็นแบบ Ac, Japan และ Europe ปัจจุบันมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าจํานวน 11 สถานี ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เส้นทางสายเหนือ (กรุงเทพฯ – พระนครศรีอยุธยา), เส้นทางสายใต้ (กรุงเทพฯ – หัวหิน), เส้นทางสายตะวันออก (กรุงเทพฯ – พัทยา), เส้นทางสาย ตะวันตก (กรุงเทพฯ – นครปฐม), เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพฯ–นครราชสีมา) และ กฟภ. สํานักงานใหญ่
พร้อมใช้งานแล้วจํานวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า กฟภ. สํานักงานใหญ่, สถานีอัดประจุไฟฟ้ารังสิต, สถานีอัดประจุไฟฟ้านครราชสีมา, สถานีอัดประจุไฟฟ้าพัทยาใต้, สถานีอัดประจุไฟฟ้านครชัยศรี, สถานีอัดประจุไฟฟ้า สมุทรสาคร, สถานีอัดประจุไฟฟ้าเขาย้อย, สถานีอัดประจุไฟฟ้าหัวหิน และสถานีอัดประจุไฟฟ้าพระนครศรีอยุธยา
ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองผู้ใช้งานทั่วไปสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ฟรี เท่าที่ได้สอบถามข้อมูลมาจะฟรีไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2561 แต่ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการทดสอบได้ครับ อย่างไรแล้วอาจจะต้องติดตามข่าวจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกครั้ง
สถานีอัดประจุไฟฟ้า สามารถทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้ด้วยนะครับ โดยการทำงานบนแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนมีฟีเจอร์คราวๆ ดังนี้
- บริการแสดงตําแหน่งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟภ.
- แผนที่นําทางไปสู่สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุด
- สถานะของสถานีอัดประจุไฟฟ้าในโครงข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ กฟภ.
- สถานะและประเภทของหัวชาร์จในแต่ละสถานีอัดประจุไฟฟ้า
- สถานะการอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าและเวลาที่เหลือในการอัดประจุไฟฟ้า
- ระบบจองคิวอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า
- ระบบชําระค่าบริการการอัดประจุไฟฟ้า
ทั้งนี้ Application ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาให้มีความเหมาะสมและมีความสะดวกสบายในการใช้งานมากยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาการแสดงแผนที่ให้เห็นถึง จุดพักรถ จุดบริการอาหารและเครื่องดื่ม และย่านการค้าต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อ ผู้ประกอบการในพื้นที่ข้างเคียงสถานีอัดประจุไฟฟ้าในโครงข่ายของ กฟภ. เป็นต้น
พาชมเมืองพัทยา หลังจากนำสายไฟลงใต้ดิน
ปิดท้ายกันที่มาชมเมืองพัทยาครับ ปัจจุบันทาง กฟภ. ได้นำสายไฟลงดินแล้วบางส่วน เดิมภาพชินตาเรามักจะเห็นสายไฟ หรือสายสื่อสารต่างๆ ห้อยเกะกะสายตาทำให้ทัศนียภาพสถานที่ต่างๆ ไม่สวยงาม ทาง กฟภ. ได้นำสายไฟลงใต้ดินไปแล้วครับ
ในระหว่างเส้นทางที่เดินทางก็จะเห็น กฟภ. กำลังนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเป็นช่วงๆ ของพื้นที่ ทั้งนี้การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินยังคงต้องอาศัยความร่วมมือจากสายต่างๆ ที่พาดอยู่บนเสาไฟเพื่อร่วมกันนำลงใต้ดินไปด้วยกัน
การปรับภูมิทัศน์ถนนเลียบหาดเมืองพัทยา ตลอดแนวพัทยาเหนือ กลาง ใต้ ทำให้เมืองพัทยาขณะนี้มีทัศนียภาพสวยงามและส่งเสริมภาพลักษณ์ให้เทียบเท่าเมืองท่องเที่ยวขั้นนำของโลก
เมืองพัทยาเรียกได้ว่าเป็นเมืองต้นแบบของการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นรากฐานเทคโนโลยีที่กำลังจะเติบโตขึ้น ในอนาคตอันใกล้นี้หากมีข้อมูลต่างๆ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือมีข้อมูลที่น่าสนใจไว้เอาจะมาฝากกันใหม่นะครับ ติดตามข่าวสารของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ที่ www.pea.co.th