IT News
โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) เปิดตัวอาคารผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ เน้นเป็นศูนย์กลางการผลิตสำหรับธุรกิจ Imaging & Sensing Solutions
ในภาพ : มร.เทรูชิ ชิมิสึ ประธาน และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ คอร์เปอเรชั่น (คนกลาง), มร.โยชิฮิโระ ยามากูจิ ประธานบริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (คนที่ 4 จากซ้าย) และ มร.ทาเคชิ มะสึดะ กรรมการผู้จัดการบริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (คนที่ 3 จากซ้าย) พร้อมด้วย มร.มาซาโตะ โอตากะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมพิธีเปิดตัวอาคารผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ ณ โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี เมื่อเร็วๆนี้
(ปทุมธานี / 29 มีนาคม 67)—บริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ คอร์ปอเรชั่น ได้จัดพิธีเปิดอาคารผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่บนพื้นที่ของ บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (หรือ SDT) เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตในการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ โดยได้ รับเกียรติจากคณะผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ คอร์ปอเรชั่น นำโดย มร.เทรูชิ ชิมิสึ ประธาน และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ คอร์เปอเรชั่น มร.โยชิฮิโระ ยามากูจิ ประธานบริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง และ มร.ทาเคชิ มะสึดะ กรรมการผู้จัดการบริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย มร.มาซาโตะ โอตากะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านที่เข้าร่วมพิธีสำคัญในครั้งนี้
บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ SDT ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการผลิตสำหรับธุรกิจ Imaging & Sensing Solutions ของโซนี่ โดยอาคารผลิตแห่งใหม่ดังกล่าวมีชื่อว่า “อาคาร 4” ซึ่งจะใช้เป็นโรงงานประกอบเซนเซอร์รับภาพ (Image Sensor) สำหรับการใช้งานในยานยนต์ และอุปกรณ์แสดงผลต่าง ๆ ตลอดจนการผลิตอุปกรณ์เลเซอร์ (Laser Diodes) เป็นจำนวนมาก สำหรับนำไปใช้งานภายใน ศูนย์ข้อมูล (Data Center) โดยในอนาคตมีแผนที่จะขยายโรงงานการผลิตที่อาคาร 4 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลกในเวลาอันใกล้นี้ ในขณะเดียวกันยังวางแผนที่จะเพิ่มอัตราการจ้างงานในท้องถิ่นอีกกว่า 2,000 ตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ฯ ได้ดำเนินธุรกิจโดยใช้พลังงานหมุนเวียน 100% มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภายในพื้นที่ห้องสะอาด(คลีนรูม) ของอาคาร 4 แห่งใหม่ ยังได้มีการติดตั้งระบบปรับอากาศที่สามารถควบคุมความสะอาด อุณหภูมิ และความชื้น ได้แบบเฉพาะเจาะจงแยกพื้นที่ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ รวมไปถึงการนำความร้อน และน้ำร้อนที่ถูกใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนมีแผนดำเนินการติดตั้ง แผงพลังงานแสงอาทิตย์เหนือบริเวณอาคาร 4 โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2567 และ เพื่อเป็นการผลักดันการลดการใช้พลังงาน และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ ฯ มีแผนที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% กับอาคาร 4 ภายหลังจากที่เปิดใช้งานอาคารเต็มรูปแบบแล้วเช่นกัน
มร. ทาเคชิ มะสึดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่อาคาร 4 เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ เพราะอาคารใหม่นี้จะช่วยให้เราสามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ซึ่งจะเป็นการขยายตลาดในระยะกลาง และระยะยาวได้มากขึ้น ในฐานะที่ SDT เป็นฐานการผลิตในต่างประเทศของกลุ่มบริษัท โซนี่ เซมิคอนดักเตอร์ โซลูชั่นส์ เราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจ Sony และสังคมตลอดไป”
บริษัท โซนี่ ดีไวซ์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (บางกะดี)
สถานที่ตั้ง | 140 หมู่ 5 สวนอุตสาหกรรมบางกะดี ถนนติวานนท์ ตำบลบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี 12000 ประเทศไทย |
เริ่มดำเนินการผลิต | เดือนธันวาคม พ.ศ. 2532 |
ผู้แทนนิติบุคคล | มร.ทาเคชิ มะสึดะ (กรรมการผู้จัดการ) |
ผลิตภัณฑ์หลัก | เซนเซอร์รับภาพ ฯลฯ |
พื้นที่บริษัททั้งหมด | 137,252 ตารางเมตร |
จำนวนพนักงาน | 1,600 คน โดยประมาณ (ณ วันที่ 1 มีนาคม 2567) |
ภาพรวมของอาคาร 4 (ณ เดือนมีนาคม 2567)
เริ่มดำเนินการผลิตในห้องสะอาด (คลีนรูม) | เดือนมกราคม พ.ศ. 2567 |
พื้นที่ใช้สอยทั้งหมด | 66,370 ตารางเมตร (รวมพื้นที่อาคารสาธารณูปโภค) |
พื้นที่ห้องสะอาด (คลีนรูม) | 8,800 ตารางเมตร (1 ชั้น)(เมื่อดำเนินการทั้ง 3 ชั้น : 26,400 ตารางเมตร (ตามแผน) |
ผลิตภัณฑ์หลัก | เซนเซอร์รับภาพ สำหรับการใช้งานยานยนต์อุปกรณ์การแสดงผล , อุปกรณ์เลเซอร์ (กระบวนการประกอบ) |