
สควิดเกม เล่นลุ้นตาย (Squid Game) กลายเป็นกระแสฮิตติดลมบนไปทั่วโลกด้วยเรื่องราวสุดตื่นเต้นระทึกขวัญของกลุ่มคนที่สิ้นหวังในชีวิตและเข้าร่วมแข่งเกมเด็กเล่นสุดลึกลับ ด้วยความหวังว่าจะคว้าเงินรางวัลมหาศาล ซึ่งแม้ว่าตัวซีรีส์ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในทันทีทันใด แต่ความจริงแล้วเส้นทางการสร้างสรรค์นั้นทั้งใช้เวลานานและเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สร้างและผู้กำกับฮวังดงฮยอกเลยทีเดียว ตามไปชมเบื้องหลังกว่าจะมาเป็นซีรีส์ สควิดเกม เล่นลุ้นตาย กันได้เลย
จุดเริ่มต้น

ผู้กำกับฮวังดงฮยอกได้ไอเดียครั้งแรกและเริ่มเขียนบทเมื่อปี 2008 เขาเล่าว่า “จริงๆ แล้วปี 2008 คือทันทีหลังจากที่ผมมีผลงานเดบิวต์ ตอนนั้นผมไปร้านหนังสือการ์ตูนบ่อยมาก พอผมอ่านการ์ตูนมากเข้าก็เริ่มคิดถึงการสร้างอะไรที่คล้ายๆ เรื่องในหนังสือการ์ตูนในเกาหลี แล้วผมก็เขียนบทเสร็จในปี 2009” ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ เดิมฮวังดงฮยอกจึงตั้งใจจะทำ สควิดเกม เล่นลุ้นตาย ออกมาในรูปแบบภาพยนตร์
เส้นทางสุดท้าทาย

แม้ว่างานเขียนบทเบื้องต้นของ สควิดเกม เล่นลุ้นตาย จะเสร็จตั้งแต่ปี 2009 แต่ฮวังดงฮยอกจำต้องพักไอเดียของเขาไว้แล้วไปลุยงานภาพยนตร์อย่าง Silenced (2011), Miss Granny (2014) และ The Fortress (2017) ก่อนจะได้มาเริ่มสร้างซีรีส์นี้ ผู้กำกับเผยว่า “ตอนนั้นเรื่องแบบนี้ไม่เป็นที่คุ้นเคยและค่อนข้างรุนแรง มีคนมองว่ามันซับซ้อนเกินไปและขายไม่ค่อยได้ ผมหาทุนได้ไม่มากพอและการแคสติ้งก็ไม่ง่ายเลย ผมลองคลุกคลีอยู่กับมันประมาณปีนึง แต่สุดท้ายก็ต้องพักไว้”
ราวสิบปีให้หลัง

ประมาณ 10 ปีหลังจากเกิดไอเดียเรื่อง สควิดเกม เล่นลุ้นตาย ในที่สุดฮวังดงฮยอกก็ได้เริ่มลงมือสร้างผลงานชิ้นนี้ให้เกิดขึ้นจริง เขาบอกว่า “ต้องขอบคุณ Netflix ที่ให้อิสระเต็มที่ ผมจึงได้อิสระที่จะสร้างสรรค์ผลงานตามที่ผมต้องการ” ด้วยโอกาสนี้เอง ผู้กำกับจึงได้ขยายเรื่องราวออกมาเป็นซีรีส์ที่ครองใจผู้ชมทั่วโลกอยู่ขณะนี้
เจตนาเบื้องหลังงานกำกับศิลป์

หนึ่งในแง่มุมที่โดดเด่นที่สุดของซีรีส์เรื่องนี้คืองานภาพที่มีสีสันสดใสอย่างเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทำให้แตกต่างจากซีรีส์แนวเซอร์ไววัลเรื่องอื่นๆ ผู้กำกับศิลป์แชคยองซอนเล่าว่า “เราสร้างสถานที่และจัดวางสิ่งต่างๆ โดยพยายามให้ผู้ชมคิดถึงเจตนาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง สควิดเกม เล่นลุ้นตาย ไปพร้อมกับเรา” ฉากถ่ายทำขนาดใหญ่และสีสันสดใสได้พาผู้ชมเข้าไปสู่โลกที่ทั้งสมจริงและทั้งแฟนตาซีในเวลาเดียวกัน
เกมเด็กเล่นที่เรียบง่าย

ผู้กำกับฮวังดงฮยอกคิดคำนึงอย่างรอบคอบในการเลือกเกมเด็กเล่นที่เข้าใจง่ายและทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงกับตัวเองได้ แต่รายละเอียดเบื้องหลังก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละเกมต้องผ่านการคิดวางแผนมากมายเพียงใด ยกตัวอย่างเช่นเกมแรก เออีไอโอยู หยุด ซึ่งเป็นเกมที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี หุ่นยนต์ในเกมนั้นนำมาจากเด็กผู้หญิงในตำราเรียนเด็ก ซึ่งทำให้ฉากออกมาดูสะเทือนขวัญยิ่งขึ้นเมื่อความสนุกในวัยเด็กกลายมาเป็นการต่อสู้ดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อให้รอดตาย
การถ่ายทอดอารมณ์ที่สมจริง

ฉากถ่ายทำขนาดมหึมามีส่วนช่วยให้นักแสดงถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้สมจริงขึ้น ผู้กำกับฮวังดงฮยอกกล่าวว่า “ผมพยายามกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศของสนามเด็กเล่นจริงๆ เพื่อให้นักแสดงได้สามารถรู้สึกและสัมผัสได้ว่ากำลังทำบางอย่างตรงนั้น ผมคิดว่าฉากถ่ายทำแบบนี้ทำให้การแสดงของนักแสดงสมจริงมากขึ้น” การนำเกมที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เอาชีวิตรอดมาอยู่คู่กับสนามเด็กเล่นที่ใสซื่อไร้เดียงสานับว่าโดดเด่นและสร้างแรงกระตุ้นทางอารมณ์ได้ดีทีเดียว
สร้างความรู้สึกหวนรำลึกถึงอดีต

หนึ่งในฉากที่ใช้เวลาสร้างนานที่สุดคือการจำลองตรอกซอกซอยละแวกบ้านสไตล์เกาหลีในยุค 70-80 นักแสดงพัคแฮซู ระบุว่า “สนามเด็กเล่นนั้นเหมือนจริงมาก เหมือนตรอกแถวบ้านในอดีต เหมือนกำลังอยู่หน้าบ้านสมัยก่อนจริงๆ ทำให้นึกถึงความหลังและรู้สึกถึงความตึงเครียดที่ไม่ธรรมดาเลยครับ” ด้านนักแสดงฮอซองแทยังกล่าวชื่นชมทีมอาร์ตสำหรับความใส่ใจในรายละเอียดกับการโรยดินไว้ตามจุดต่างๆ ในตรอกเหล่านั้นด้วย
สร้างให้ออกมาเป็นสากล แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเกาหลีด้วย

แง่มุมต่างๆ ที่กล่าวมานี้ได้รวมกันเป็นเรื่องราวที่มีความเป็นสากล แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเกาหลีด้วย เกมเด็กเล่นส่วนใหญ่เป็นเกมที่รู้จักกันแพร่หลาย แต่บางเกมก็มีแค่ในเกาหลีเท่านั้น อารมณ์ของมนุษย์และอุปสรรคที่ตัวละครเผชิญจะเข้าถึงอารมณ์ของใครหลายๆ คนไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหนก็ตาม ผู้กำกับฮวังดงฮยอกมองว่า “ในฐานะเกมเซอร์ไววัล มันเป็นทั้งความบันเทิงและเป็นความดราม่าของมนุษย์”
การสื่อสารที่เฉียบคม

ซีรีส์เรื่องนี้พาไปสำรวจธรรมชาติของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ ผ่านการนำผู้ใหญ่กลับมาเล่นเกมในวัยเด็กอีกครั้ง ผู้กำกับฮวังดงฮยอกระบุว่า “ผมอยากเขียนเรื่องที่เป็นสัญลักษณ์ภาพหรือนิทานเปรียบเทียบสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน อะไรที่จะทำให้เห็นภาพการแข่งขันสุดโต่ง อะไรที่คล้ายกับการแข่งขันอันรุนแรงของชีวิตคน” แต่มันก็ไม่ได้สิ้นหวังไปเสียทั้งหมด ดังที่เราได้เห็นหลายตัวละครยังไม่สูญเสียความเป็นมนุษย์และมีความหวังไปพร้อมกัน ซึ่งการวิพากษ์ธรรมชาติมนุษย์และสังคมนั้นกระตุ้นความคิดของคนได้อย่างแน่นอน
ภาพ จาก Netflix