ข่าวประชาสัมพันธ์
จากใจแม่..ที่เกือบเสียลูกให้กับด้านมืดของโลกออนไลน์
ใครเห็นด้วยบ้าง…โลกออนไลน์มีทั้งด้านที่เป็นโอกาสนำไปสู่การพัฒนาและความสำเร็จในชีวิต และแน่นอนว่าอีกด้านคือหายนะที่นำไปสู่ปัญหาครอบครัวและสังคมได้เฉกเช่นเดียวกัน แล้วใครหล่ะที่จะรู้ว่าอะไรคือโอกาสและอะไรคือหายนะ..บทความนี้พ่อแม่ไม่ควรพลาด!!
‘ทางที่ดีอย่าซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกเลย เพราะกฎ กติกา คือโลกสวย แต่ในความเป็นจริง เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้จับโทรศัพท์’
เสียงจาก ‘นงนุช’ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ผ่านฝันร้ายวันลูกติดเกมจนลืมการเรียน มหันตภัยไซเบอร์ครั้งนี้มาเยือนเธอที่หน้าห้องสอบของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่ง
“แม่ครับ หากผมสอบเข้าม.1 ได้ ผมขอโทรศัพท์มือถือเป็นรางวัลนะครับ”
เสียงลูกชายวัย 14 ปีทำข้อตกลงก่อนเข้าห้องสอบ แล้วก็ไม่ผิดหวัง เขาสอบได้ นงนุชจึงซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่สุด เพื่อให้สมกับความตั้งใจที่แม้จะอยู่กันสองคนแม่ลูก ตัวเขาก็เป็นเด็กสมาธิสั้น แต่ยังสามารถสอบเข้าโรงเรียนดังไม่ทำให้แม่ผิดหวัง อย่างน้อยก็ยังได้พึ่งระบบทันสมัยสื่อสารกับลูกในยามฉุกเฉิน แต่เธอไม่มีทางรู้เลยว่า อีกด้านหนึ่งก็เป็นการยื่นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพใส่มือลูกแล้ว
ขณะที่รอโรงเรียนใหม่เปิดเทอม โทรศัพท์เครื่องใหม่ถูกลูกใช้จนหายใหม่ไปนานแล้ว เขาเล่นทุกวัน ไม่เคยห่าง โชคดีที่นงนุชเปิดธุรกิจที่บ้านจึงสามารถเห็นพฤติกรรมของลูกได้ว่า จัดเต็มทุกอย่าง ทั้งแชท เล่นเกม อ่านนิยาย ดูยูทูป จนไม่กินข้าวกินปลา พอเรียกก็ ‘เดี๋ยว’เรียกอาบน้ำก็ ‘แป๊บ’ แล้วลากยาวเป็นชั่วโมง วันหนึ่งเธอแทบผงะ เมื่อเปิดดูในแกลลอรี่รูป มีคลิ๊ปโป๊เด้งขึ้นมา เธอสั่งลบทันที พร้อมตั้งกฏ กติกา ในการเล่นโทรศัพท์อย่างเคร่งครัด บทลงโทษสูงสุดคือริบโทรศัพท์
แม้ลูกจะรับปาก แต่ทันทีที่เธอเผลอ ลูกถือโทรศัพท์เข้าห้องน้ำ ทั้งที่ตกลงกันแล้ว ครั้งแรกยอม กระทั่งโรงเรียนเปิดเทอม ขณะที่เธอขับรถไปส่งลูกที่โรงเรียน ภาพลูกเล่นเกมอย่างบ้าคลั่งโดยไม่สนใจใดๆ เท่ากับเร่งให้ความอดทนของเธอพุ่งถึงขีดสุด เธอคว้าโทรศัพท์จากมือลูกทันที ลูกเหวอไปนิด แต่แค่นิดเดียวจริงๆ แล้วลงรถอย่างไม่สนใจ ในใจคิดว่า ไปขอเพื่อนเล่นก็ได้
นงนุชเก็บโทรศัพท์ วันต่อมาเห็นลูกทำตัวเป็นเด็กดี เรียกง่ายใช้คล่อง เธอจึงใจอ่อนคืนโทรศัพท์ให้ เพราะเขาต้องทำการบ้านที่ครูสั่งทางไลน์ แต่นั่นเท่ากับเธอยื่นมีดคืนให้ลูก ภาพเดิมๆ กลับมาและยิ่งหนักขึ้น โรงเรียนที่เธอเคยภูมิใจนักหนาว่าลูกสอบได้ กลายเป็นว่าลูกไม่แยแส แม้แต่จะแต่งตัวไปโรงเรียน นงนุชนั่งมองลูกชายที่นั่งเล่นเกมอย่างหมดปัญญา เธอรู้ว่า หากริบ ลูกจะอาละวาดทันที ลำพังตัวเองก็ต้องขายของหาเลี้ยงตัวและลูก หากมานั่งจับตาดูลูกอยู่ตลอด คงอดตาย สิ่งที่เธอทำได้คือ พาลูกไปเข้าค่าย ‘ดิจิทัล ดีท็อกซ์’ ที่จัดโดย รศ นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลา 7 วัน กลับมาลูกดีขึ้น แม้ไม่ใช่คนใหม่ แต่ก็อยู่ในระดับที่พอใจ
นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เธอทำได้ ณ ตอนที่ลูกเป็นมากเข้าขั้นที่ต้องใช้หมอมาช่วยดูแลและก็นับเป็นความโชคดีของเธอที่สามารถเรียกลูกกลับมาได้ทัน จะดีกว่าไหม…ถ้าวันนี้เธอในฐานะแม่มีความเป็น Digitally Savvy มีความรู้เรื่องออนไลน์มากพอที่สอนลูกหรือแนะนำเขาให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรคือโอกาสและอะไรคือหายนะ เพราะพ่อแม่คือต้นทางที่สำคัญ รู้ก่อน ระวังก่อน ได้เปรียบ แล้วอย่าลืมว่า..โลกดิจิทัลหมุนเร็วขึ้นทุกวันและมันก็ไม่ได้เป็นตัวปัญหาแต่อย่างใด
แล้วใครหล่ะที่ผิด กับเรื่องจริงที่ไม่มีใครอยากให้เกิด..