IT News
เตือนเที่ยวนอก อ่านคู่มือ “มือถือไปเมืองนอก” สกัดหนี้ก้อนโตเช็กบิลย้อนหลัง
กสทช. เตือนผู้บริโภคเที่ยวเมืองนอก ควรอ่านคู่มือ “มือถือไปเมืองนอก” ก่อนสมัครใช้บริการโรมมิ่ง เพื่อป้องกันการเป็นหนี้จากบริการโทรคมนาคมแบบไม่รู้ตัว ระบุสงกรานต์ปีที่ผ่านมาลูกค้ามือถือเสียเงินโดยไม่รู้ตัวถึง 6 หมื่นบาท…
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว อาทิ ปิดเทอม เทศกาลสงกรานต์ นั้น คาดว่าผู้ที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ ที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ควรจะระมัดระวังอย่างมาก โดยเฉพาะหากสมัครใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ หรือ โรมมิ่ง ซึ่งผู้ใช้งานจะต้องตั้งค่าเครื่องรองรับด้วยมือ หรือ Manual
ทั้งนี้ ในการเลือกรับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายควรเลือกรับสัญญาณที่อยู่ในโปรโมชั่นเท่านั้น และต้องระมัดระวังเพราะบางครั้งเครือข่ายในต่างประเทศมีชื่อคล้ายคลึงกัน เช่น airtell กับ aircell และควรเลือกสมัครรายการส่งเสริมการขายที่เหมาะสมกับการใช้งาน เนื่องจากอัตราค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติโดยเฉพาะ Data โรมมิ่งนั้นมีอัตราสูง และในกรณีที่การใช้สมาร์ทโฟนจะมีการเชื่อมต่อตลอดเวลา ดังนั้นผู้ใช้บริการจึงควรศึกษาเงื่อนไขการให้บริการพร้อมอัตราค่าบริการก่อนเดินทางด้วย
นอกจากนี้ อุปกรณ์โทรคมนาคมสมัยใหม่ ประเภทแท็บเล็ต เช่น iPad ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถรับข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนของผู้ให้บริการได้ ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลปริมาณการใช้งานจากบริษัท ซึ่งอาจต้องแจ้งเตือนไว้กับเครือข่ายผู้ให้บริการเพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งปริมาณการใช้งานมาให้ได้ทราบ หรือในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเช่นนี้ ขอให้ระมัดระวังกรณีท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดน หากเปิดใช้บริการโรมมิ่งไว้ เครื่องโทรศัพท์อาจไปจับสัญญาณอัตโนมัติ ดังนั้นอาจปิดบริการโรมมิ่ง หรือสังเกตหน้าจอขณะใช้งาน ซึ่งพบว่ามีผู้ร้องเรียนที่เดินทางไปเชียงคาน จ.เลย หรือ แม่สาย จ.เชียงราย ช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา ถูกคิดค่าบริการดาต้าโรมมิ่งไปเกือบ 6 หมื่นบาท
กรรมการ กสทช. กล่าวต่อว่า ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำคู่มือเล่มเล็ก เรื่อง การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ ชื่อ “มือถือไปเมืองนอก” หรือ Mobile Passport เพื่อแจกให้กับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาป้องกันปัญหาบิลช็อกได้ โดยมีแจกที่จุดประชาสัมพันธ์การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และจุดทำพาสปอร์ต ของกรมการกงสุลที่แจ้งวัฒนะ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เซ็นทรัลบางนา สำหรับเผยแพร่ให้กับผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ และสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.tci.or.th
ทั้งนี้ จากการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2552-2554 พบว่า มีการร้องเรียนเรื่อง การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติจำนวนทั้งสิ้น 118 กรณี รวมมูลค่าค่าบริการที่ถูกโต้แย้งทั้งหมดประมาณ 4,495,874 บาท สาเหตุสำคัญมาจากการไม่ทราบเงื่อนไขการใช้บริการตามรายการส่งเสริมการขายนั้น การไม่ทราบวิธีการตั้งค่าใช้งานอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้งานอยู่ ทำให้ผู้ใช้บริการหลายรายต้องกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่จากการใช้บริการโทรคมนาคมอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น นักศึกษารายหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูงานกับอาจารย์เพียง 7 วัน ถูกคิดค่าบริการ data roaming มากกว่า 200,000 บาท และสุดท้ายแม้ผู้ให้บริการจะลดค่าบริการให้แล้ว แต่ยังต้องผ่อนชำระค่าบริการกับบริษัทเป็นเวลา 3 ปี เดือนละเกือบ 5 พันบาท ทั้งนี้ การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้บริการต้องใส่ใจและพึงระมัดระวังอย่างสูง
ที่มา : ไทยรัฐ